posttoday

ส่งออกไทยช่วยปั๊มศก.ทำสถิติสูงสุดรอบ 11 ปี พุ่งพรวด 40.9%

24 มิถุนายน 2564

‘จุรินทร์’ชี้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ดันส่งออกเดือนพ.ค.ขยายตัวต่อเนื่อง สินค้าเกษตร-อาหาร สินค้าWork from Home เป็นที่ต้องการ ลุ้นทั้งปีมากกว่าเป้า 4%

นายจุรินทร์   ลักษณวิศิษฎ์    รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์  เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพ.ค. ว่า การส่งออกปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยขยายตัว 41.59 %มีมูลค่า 23,057 ล้านดอลลาร์สหรัฐทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปี หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกไทยขยายตัวสูงถึง 45.87 %

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกขยายตัวเป็นผลจากการดำเนินการตามแผนการส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ จากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่  และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน

สำหรับภาพรวมการส่งออก 5 เดือนแรก(ม.ค.-พ.ค.) ปี 2564 ขยายตัว 10.78 % เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 17.1 3% สะท้อนภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ที่เติบโตอย่างชัดเจน

ส่วนสินค้าส่งออกที่ขยายตัวดี ได้แก่ 1.สินค้าเกษตรและอาหาร 2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ขยายตัวเกือบทุกหมวดสินค้า 3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง กลายเป็นสินค้าที่มีความสำคัญในช่วงที่มีการระบาด

4.สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของภาคการผลิต เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น และ 5. สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) มีการขยายตัวในระดับสูง สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศคู่ค้าได้เป็นอย่างดี

ด้านตลาดส่งออก 20 อันดับแรก ซึ่งครองสัดส่วนถึง 85 %ของการส่งออกรวม ขยายตัวทุกตลาด ตลาดสำคัญ อาทิ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตลาดเอเชียใต้ โดยเฉพาะอินเดีย ที่ยังคงนำเข้าสินค้าไทยในระดับสูง ด้านตลาดอาเซียน (5) พลิกกลับมาขยายตัวในตลาด

นายจุรินทร์ กล่าวถึงแนวโน้มและแผนส่งเสริมการส่งออกปี 2564  เดิมตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 4 %  แต่จากภาพรวม 5 เดือนแรก ขยายตัวไปแล้วกว่า 10% ส่วนจะมีโอกาสที่การส่งออกปีนี้จะเป็นตัวเลข 2 หลักได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดและกระทรวงพาณิชย์จะพยายามทำให้ดีที่สุด  

สำหรับแผนงานสำคัญเพื่อผลักดันการส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมาย คือ 1.เร่งรัดการเปิดตลาดใหม่ให้มีผลทางภาคปฏิบัติเป็นรูปธรรม ทั้งตลาดตะวันออกกลาง ตลาดกลุ่มประเทศรัสเซีย ตลาดกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกา

2.รุกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนต่อเนื่องต่อไปโดยจะเร่งเปิดด่านซึ่งมีอยู่ 97 ด่าน ซึ่งปัจจุบันเปิดได้แค่ 45 ด่านเป้าหมายระยะสั้นเร่งเปิดให้ได้อย่างน้อยเพิ่มอีก 11 ด่าน 3.เร่งส่งเสริมการส่งออกและการเจรจาการค้ารวมทั้งการทำสัญญาส่งสินค้าออกด้วยระบบออนไลน์ต่อไป

4.เร่งรัดดำเนินการ MINI-FTA ทั้งกับไห่หนาน หรือมณฑลไหหลำของจีน รัฐเตลังคานาของอินเดีย เมืองคยองกีของเกาหลี หรือโคฟุของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้สัญญาณล่าสุดอาจลงนามได้ในช่วงสิงหาคม  และ5.เร่งสร้างแม่ทัพการค้าและแม่ทัพการส่งออกรุ่นใหม่ของไทยเพื่อเป็นอนาคตสำหรับการนำเงินเข้าประเทศต่อไปในเรื่องโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO ซึ่งปีนี้มั่นใจว่าสร้างได้ครบ 12,000 คนทั่วประเทศแน่นอน