posttoday

ลิสซิ่งรถยนต์ ครองแชมป์เบอร์ 1 ธุรกิจดาวเด่น

23 มิถุนายน 2564

‘พาณิชย์’ ชี้ธุรกิจสินเชื่อยานยนต์โตต่อเนื่องแม้มีโควิด จับตาแข่งขันสูงจากต่างชาติเข้ามาเปิดกิจการมากขึ้น หลังนโยบายรัฐส่งเสริมใช้รถอีวีตามเทรนด์โลก

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง การวิเคราะห์ธุรกิจดาวเด่นเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า ธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์’ ครองแชมป์เบอร์ 1  โดยเติบโตต่อเนื่องช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทั้งการจัดตั้งธุรกิจใหม่และผลประกอบการสิ้นปี ส่งผลให้เป็นธุรกิจที่มีความโดดเด่นและน่าจับตามองเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอก ธุรกิจได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนด้านสินเชื่อยานยนต์ เช่น การลดค่างวด หรือการพักชำระค่างวด และการรวมหนี้สินเชื่อ เป็นต้น ดังนั้น ภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ยังคงมีความแข่งแกร่งและเติบโตได้อีกมาก

ทั้งนี้จากข้อมูลการจัดตั้งธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ ตั้งแต่ปี 2561 - 2564 พบว่า ปี 2561 มีการจัดตั้งธุรกิจจำนวนทั้งสิ้น 24 ราย ทุนจดทะเบียน 124.50 ล้านบาท ปี 2562 จัดตั้งจำนวนทั้งสิ้น 37 ราย ทุนจดทะเบียน 820.80 ล้านบาท แต่ในช่วงปี 2563 - 2564 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อัตราการจดทะเบียนจัดตั้งมีความผันผวนและชะลอตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตามภาวะเศรษฐกิจ

ส่วนปี 2563 มีการจดทะเบียนจัดตั้งจำนวนทั้งสิ้น 17 ราย ทุนจดทะเบียน 83.21 ล้านบาท และปี 2564 (มกราคม - พฤษภาคม) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจ จำนวน 9 ราย ทุนจดทะเบียน 36.50 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 35.71 (มกราคม - พฤษภาคม 2563 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จำนวน 14 ราย ทุนจดทะเบียน 32.20 ล้านบาท)

ด้านนักลงทุนชาวต่างชาติ สัญชาติที่ลงทุนในธุรกิจฯ สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 70,587.18 ล้านบาท (ร้อยละ 39.19) สิงคโปร์ 4,290.14 ล้านบาท (ร้อยละ 2.38) และมาเลเซีย 1,001.02 ล้านบาท (ร้อยละ 0.55) โดยธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์มีแนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ได้แก่ การลดดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ความต้องการรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่เพิ่มมากขึ้น และแนวโน้มความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจได้ในอนาคต ส่งผลให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นและลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564) มีธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 418 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.05 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ และมีมูลค่าการลงทุน 180,134.43 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.92 ของเงินลงทุนทั้งหมดของกิจการที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตามธุรกิจมีการกระจายตัวอยู่ในจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ 29 ราย ชลบุรี 16 ราย และนครสวรรค์ 14 ราย ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในการเข้าถึงแหล่งเงินสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการใช้รถยนต์เชิงพาณิชย์สำหรับขนส่งสินค้าเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์

เมื่อพิจารณาจากรายได้ของกลุ่มธุรกิจฯ ตั้งแต่ปี 2560 - 2562 พบว่า ปี 2562 มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2560 มีรายได้จำนวน 86,560.40 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้จำนวน 86,080.98 ล้านบาท และปี 2562 มีรายได้ถึง 96,622.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.25

นอกจากนี้ ปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ของภาครัฐ เช่น นโยบายการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้เดือนพฤษภาคม 2564 มีจำนวนการจดทะเบียนใหม่ของยานยนต์ไฟฟ้ากว่า 15,506 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 9.55 และส่งผลดีต่อธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์อีกด้วย

อย่างไรก็ตามธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ที่มีบริษัทในเครือของบริษัทยานยนต์ และบริษัทในเครือของธนาคารเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจมีความท้าทายที่จะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากผู้แข่งขันรายใหม่ เช่น บริษัทสินเชื่อ หรือสถาบันการเงินจากต่างประเทศที่เป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ของตลาดยานยนต์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของยานยนต์สันดาปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค

รวมทั้ง เทคโนโลยีการให้บริการสินเชื่อดิจิทัลที่เป็นตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคในการเข้าถึงสินเชื่อประเภทต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ที่จะนำเข้าเทคโนโลยีมาแข่งขันทั้งในด้านของการออกสินเชื่อสำหรับการซื้อยานยนต์ภายในประเทศที่ผู้คนต้องการจะเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และสินเชื่อประเภททะเบียนยานยนต์ ที่ประชาชนต้องการกระแสเงินสดในการดำรงชีพและการหมุนเวียนทางธุรกิจ