posttoday

“สมคิด”ชี้วิกฤตโควิดทำเศรษฐกิจชะงัก แนะปรับตัวก่อนถูกดิสรัป

22 มิถุนายน 2564

“สมคิด”เตือนท่องเที่ยวต้องเร่งปรับตัวเรียกเชื่อมั่น ขณะที่ภาคธุรกิจต้องตอบโจทย์ลูกค้ายุค New Normal แนะสร้างแพลตฟอร์มตัวเองเลิกพึ่งอีคอมเมิร์ชรายใหญ่

นายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์  ประธานกรรมการบริษัทสหพัฒน์อินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)   กล่าวในโอกาสร่วมแถลงข่าวการจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์ว่า  สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ยังมีการขยายตัวมากขึ้น และจะต้องอยู่กับเราไปอีกนานพอสมควร 

ทั้งนี้ปัญหาโควิดที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้เศรษฐกิจชะงัก คนตกงาน  การพัฒนาวัคซีนต้องเร่งพัฒนาให้กับทันกับการกลายพันธุ์ของเชื้อโรค  การเร่งฉีดวัคซีนเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เหตุการณ์กลับมาเป็นปกติ

อย่างไรก็ตามช่วง 2 ปีทำให้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป  โดยฉพาะพฤติกรรมของคน  ทุกคนต้องอยู่กับที่  อยู่กับบ้าน เพื่อหยุดการแพร่ระบาด การทำงานแบบ Work  From Home เริ่มนำมาใช้มากขึ้น เนื่องจากตัวเลขผู้เสียชีวิต จำนวนผู้ติดเชื้อ ทำให้เกิดการหวาดระแวง การทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มากหรือสถานที่ที่เป็นศูนย์กลาง จะไม่มีใครอยากเข้าไป ซึ่งจะขัดแย้งกับวิถีเดิม และส่งผลต่อเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก ทำมาหากินลำบาก  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องอยู่กับมันให้ได้

“ ความเป็นจริงที่เจ็บปวดคือ  มันคงไม่เหมือนเดิมต่อไป  แต่จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นมา New Normal  ธุรกิจที่สามารถปรับปรุงตัวเองเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อม ย่อมหาโอกาสใหม่ๆให้กับธุรกิจได้ ส่วนธุรกิจที่ยังทำเหมือนเดิม จะถูกดิสรับทันที”

นายสมคิด กล่าวว่า  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือธุรกิจท่องเที่ยว จากเดิมทำกันแบบง่ายๆพื้นบ้าน ชวนต่างชาติมาเที่ยวปีละ10ล้านคน  แต่คิดว่าจากนี้ไปคงยาก เพราะคนกว่าครึ่งโลกยังไม่ได้ฉีดวัคซีน  ขณะที่คนติดโควิดยังเพิ่มขึ้น ดังนั้นการท่องเที่ยวต้องปรับตัว ต้องยกระดับ การสร้างสุขอนามัย ปลอดเชื้อ เรียกความมั่นใจนักท่องเที่ยว    

ขณะเดียวกันธุรกิจการจัดประชุมสัมนา (ไมซ์) ต้องมีการปรับสูตรใหม่ ทำไมต้องส่งคนไปต่างประเทศ  การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ การจัดสัมมนา อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้รับผลกระทบแน่นอน ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจการบิน  สิ่งเหล่านี้ต้องมีการเรียนรู้และปรับตัว   ด้านอุตสาหกรรมภัตรคาร  ร้านอาหาร  ช่วงโควิดบริการสั่งออนไลน์ได้รับความสนใจมาก โดยเฉพาะร้านเล็กๆ ทุกร้านต้องพัฒนาเพจเกจจิ้งที่ดี สุขอนามัย  ตอบโจทย์คนอยู่บ้าน 

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าโควิดที่เกิดขึ้นแม้จะเป็นวิกฤตกับบางคนแต่ก็เป็นโอกาสกับบางคน   กรณีธุรกิจออนไลน์มีการขยายตัวมาก  เคยมีกูรู ให้หลักคิดไว้ว่า ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดถ้าอยากอยู่ได้   ต้องมี 2 ปัจจัย 1. สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งขัน ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ 2. สร้างความแตกต่างด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด มีประสิทธิภาพสูงที่สุด  2 เรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญ

ปัจจุบันเป็นยุคที่เทคโนโลยีแพร่หลาย การสร้างความแตกต่างโดยใช้เทคโนโลยีดิจิตอล จะช่วยตอบโจทย์ลูกค้าโดยตรง  การขายผ่านอีคอมเมิร์ชทำให้รู้จักลูกค้าดีขึ้น อย่างกรณีของธุรกิจค้าปลีกเดิมอำนาจต่อรองสูงลูกค้าต้องมาซื้อของเอง แต่เมื่อคนไม่เข้าห้างทำให้เรียนรู้ว่า  สามารถช้อปออนไลน์ได้

ดังนั้นทุกคนต้องสร้างแพลตฟอร์มเพื่อสื่อถึงลูกค้าโดยตรง  โดยไม่ต้องหวังพึ่งอีคอมเมิร์ชรายใหญ่อย่างเดียว ซึ่งรวมไปถึงผู้ผลิตสินค้า เจ้าของสินค้าก็ต้องมีแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อเชื่อมโยง ระหว่างกันและเอาชนะคู่แข่ง วันนี้ถ้าไม่ทำอะไรเลย นั่งอยู่เฉยๆ รอออเดอร์  อย่างเดียวในภาวะที่พฤติกรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจะเกิดดีสทรัพหายไปจากระบบ