posttoday

ล่อซื้อน้ําส้ม ขายน้ำส้มขวดต้องมีอย. หรือไม่?

19 มิถุนายน 2564

อย.แจง ผลิตน้ำส้มขวดขายตรงให้ผู้บริโภคไม่ต้องขอ อย. แต่หากผลิตขายส่งต้องขอ อย.

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ชี้แจงว่า กรณีที่ผู้ผลิตทำขาย และจำหน่ายโดยตรงกับผู้บริโภค ไม่จำเป็นต้องมาขออนุญาตกับ อย. แต่ต้องดำเนินการให้ถูกสุขลักษณะแต่หากเป็นการผลิตทึ่บรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ปิดสนิท แล้วส่งไปขายตามร้านค้าต่างๆ ต้องขออนุญาตจาก อย.ก่อน และต้องมีฉลากแสดงชื่อสินค้า สถานที่ผลิต ส่วนประกอบ รวมถึงมีเลข อย. 13 หลักที่ได้รับอนุญาตจาก อย.

ผู้ประกอบการสามารถศึกษารายละเอียดการยื่นคำขอจากคู่มือประชาชน ที่มีรายละเอียดขั้นตอนการขออนุญาต การตรวจประเมิน รวมทั้งเอกสารที่ต้องเตรียมไว้อย่างละเอียด ทั้งนี้ อย.ยินดีให้คำปรึกษาและพร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยทุกราย

ก่อนหน้านี้ เกิดกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่ง ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต เข้าทำการจับกุมผู้ขายน้ำส้ม จำนวน 500 ขวด และมีการเรียกค่าปรับเป็นเงินจำนวน 12,000 บาท จนมีคนวิพากษ์วิจารณ์วิจารณ์การทำงานของกรมสรรพมิตกันอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวกรมสรรพสามิต ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบจริง และยืนยันว่า ไม่ได้มีการเรียกค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 12,000 บาท ทุกอย่างมีหลักฐาน กล้องวงจรปิดของร้าน ยืนยันข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ ในส่วนของการล่อซื้อ โดยการสั่งให้ผลิต 500 ขวด เป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ที่เก็บรวบรวมหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า ร้านดังกล่าว ประกอบกิจการ ในลักษณะผู้ประกอบอุตสาหกรรม โดยมีเงื่อนไขชัดเจน ว่ามีเครื่องจักรสำหรับการผลิต และขายส่งในปริมาณมาก ทุกวัน จึงต้องมีหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่า ไม่ได้เป็นการปรักปรำผู้ประกอบการ

นายณัฐกร กล่าวว่า ในกรณีนี้ ขอแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.เจ้าหน้าที่กรม กับ ผู้จัดการร้านค้า ซึ่งในวันเกิดเหตุ กรมได้ลงพื้นที่ เพราะมีผู้แจ้งเบาะแส ว่ามีการผลิตในลักษณะผู้ประกอบการอุตสาหกรรม มีการขายส่ง แต่ไม่ได้มีการจดทะเบียนเสียภาษีให้ถูกต้อง จึงเข้าไปแนะนำ ซึ่งผู้จัดการก็เข้าใจ และแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าจะเข้าไปจดทะเบียนให้ถูกต้องกับกรมในวันต่อมา

ทั้งนี้ ไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าปรับ หรือยึดสินค้าใด ๆ กลับมาที่กรม แต่ให้ข้อมูลว่า จากจำนวนสินค้าในสถานที่ประกอบอุตสาหกรรม เมื่อคำนวนเป็นเม็ดเงินภาษี จะอยู่ที่ราว 1,200 บาท แต่เมื่อไม่มีการจดเสียภาษีถูกต้อง จะเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม 10 เท่า จึงคำนวน มาอยู่ที่ 12,000 บาท ซึ่งเป็นการให้ข้อมูล ไม่ได้มีการเรียกเก็บแต่อย่างใด

สาเหตุที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมาก มาจากตัวเจ้าของกิจการ ที่โพสต์รายละเอียดดังกล่าว ลงเฟสบุ๊ก ซึ่งข้อมูลบางเรื่องไม่ถูกต้อง ทำให้กรมได้รับความเสียหาย แต่ต่อมาได้ปิดเฟสบุ๊กดังกล่าว ซึ่งกรมก็ไม่ได้เก็บหลักฐานไว้ และยืนยันจะไม่ฟ้องร้องเอาผิดใดๆ

นายณัฐกร กล่าวว่า ขอให้พ่อค้าแม่ค้า ที่ขายน้ำผลไม้ หรือ น้ำส้ม หากมีการคั้นสด ขายปลีกขวดต่อขวด ไม่ได้ขายส่งในปริมาณมาก ไม่มีเครื่องจักร ไม่ต้องกังวล เพราะไม่ถือว่า ต้องเสียภาษี และกรมไม่มีนโยบายเข้าไปตรวจจับ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 เพราะไม่ต้องการซ้ำเติมประชาชน เว้นเสียแต่ว่าได้รับการแจ้งเบาะแส จึงต้องลงไปตรวจสอบ เพื่อไม่ให้ผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ที่จดทะเบียนเสียภาษีกับกามถูกต้อง จะต้องเสียภาษีเครื่องดื่มผลไม้ในอัตรา 10% ของราคาขายปลีก แต่ถ้ามีส่วนผสมของผลไม้สดเกิน 20% ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี รวมทั้งเสียภาษีความหวาน ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด