posttoday

เร่งปลดล็อกปมร้อนเหล็กแพง กระทบต้นทุนเอกชน

23 พฤษภาคม 2564

อุตสาหกรรม-พาณิชย์ ระดมสมองหาทางออกแก้ราคาเหล็กแพง หวั่นกระทบอุตสาหกรรมก่อสร้าง ชี้ช่องทบทวนค่าK สะท้อนราคาตลาดโลก

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยถึง กรณีปัญหาราคาเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาว่า กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ได้ประชุมหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ประกอบการทั้งกลุ่มผู้ใช้ และกลุ่มผู้ผลิตเหล็ก เพื่อหาทางแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยมีข้อสรุปเรื่องการแก้ปัญหาราคาที่กระทบต้นทุนของผู้ใช้เหล็กเป็นหลัก คือ กลุ่มก่อสร้างที่เสนองานกับหน่วยงานภาครัฐจะมีการพิจารณาทบทวนตัวเลขค่า K หรือ ดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างานของงานโครงการภาครัฐระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยทั้งในด้านการสืบราคาจำหน่ายและการกำหนดค่า K ให้สะท้อนกับราคาในตลาดยิ่งขึ้น

รวมทั้งจัดทำ Business Matching ระหว่างผู้ผลิต และผู้ใช้เหล็กเพื่อวางแผนการใช้และการผลิตร่วมกัน และขอความร่วมมือผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเหล็ก ตรึงราคาและจำหน่ายสินค้าเหล็กในราคาที่สอดคล้องต้นทุนที่แท้จริง โดยกรมการค้าภายในจะติดตามสถานการณ์ต้นทุนการนำเข้าและราคาจำหน่ายอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมาย 4 หน่วยงานหลัก ทั้ง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เข้าไปดูแลผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับหน่วยงานกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กเร่งพัฒนาประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทางผู้ผลิตเหล็กฯ ยืนยันว่า ขณะนี้มีการผลิตเหล็กร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตที่สามารถผลิตได้ ปัญหาการขาดแคลนสินค้าเหล็กในประเทศไทยจะไม่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีความต้องการใช้เพิ่มเติมจากกลุ่มผู้บริโภคที่หันกลับมาใช้สินค้าเหล็กในประเทศแทนเพื่อลดการนำเข้า

ขณะที่ดัชนีอุตสาหกรรมเหล็ก และเหล็กกล้าขั้นมูลฐานของเดือนมีนาคม 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  จากเหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กเคลือบสังกะสี เหล็กลวด เหล็กรูปพรรณรีดร้อนและเหล็กเส้นกลม เป็นหลัก โดยได้รับอานิสงส์จากปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลง และเป็นช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กของโลกปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย และทำให้ราคาเหล็กโลกเพิ่มขึ้นตามกลไกของตลาดโลก