posttoday

กกร.หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2% จี้รัฐใช้เงินกู้ 7แสนล.เพิ่มวงเงินคนละครึ่ง

19 พฤษภาคม 2564

กกร.ห่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด เสนอรัฐบาลเร่งมาตรการกระตุ้นใช้จ่าย เพิ่มวงเงินคนละครึ่งเป็น 6,000 บาท เริ่มใช้ทันทีเดือนมิ.ย.นี้ ไม่ห่วงรัฐกู้ 7 แสนล้าน เพดานหนี้สาธารณะยังต่ำ

นายสุพันธุ์  มงคลสุธีร์   ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)   เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถานบันได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  สมาคมธนาคารไทย และส.อ.ท. ว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนมีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 3 เดือน    ซึ่งจะทำให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม โดยเฉพาะธุรกิจบริการดำเนินกิจการได้อย่างจำกัดจากมาตรการควบคุมโรค ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสองและไตรสามเป็นอย่างมาก

ดังนั้นกกร.จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0.5% ถึง 2.0% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 1.5 -3% และปรับเป้าหมายการส่งออกไว้  5-7 % ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ  1-1.2 % 

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 เรื่อง คือ 1.เร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย ปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน และบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาสที่ 4 

2.เร่งผลักดัน พรก. เงินกู้ 7 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอ และดำเนินโครงการด้านสาธารณะสุข ด้านการเยียวยา ชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง

3.  เร่งรัดมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ให้เข้ามาพยุงกำลังซื้อได้ในเดือนมิถุนายน และพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 9 หมื่นล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท เมื่อรวมเม็ดเงินของประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง 

กกร.หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2%  จี้รัฐใช้เงินกู้ 7แสนล.เพิ่มวงเงินคนละครึ่ง

4.  เสริมมาตรการดึงกำลังซื้อจากประชาชนที่มีเงินออม โดยสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าไปหักภาษีเงินได้ เช่น โครงการช้อปดีมีคืน  เป็นมาตรการที่เหมาะสม  และเพิ่มวงเงินการลดหย่อนภาษี เป็น 5 หมื่น บาท ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่าย เพิ่มการใช้จ่ายได้ 2 แสนล้านบาท

“การกู้เงิน 7 แสนล้านบาท อยากให้นำเงินที่ได้มาเพิ่มวงเงินในโครงการคนละครึ่ง และควรจะเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป เพราะตอนนี้เศรษฐกิจชะลอตัวมาก เพราะจากนี้ไปจนถึงไตรมาส 3 จะลำบาก  ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตรัฐกู้เงินเพิ่ม จะกระทบเพดานหนี้สาธารณะนั้น เท่าที่ดู เพดานหนี้ยังค่อนข้างต่ำไม่น่าจะกระทบ”นายสุพันธุ์ กล่าว

นอกจากนี้การเร่งแจกกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีและปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง การประชาสัมพันธ์แผนการบริหารจัดการวัคซีนที่มีความชัดเจน ไปพร้อมกับการเร่งสร้างความเข้าใจเพื่อเสริมความเชื่อมั่นในการเข้ารับการฉีดวัคซีน จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดเป็นภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ภายในประเทศ