posttoday

สหรัฐฯ คงสถานะคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยเท่าเดิมที่ WL

07 พฤษภาคม 2564

สหรัฐฯประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง ด้านพาณิชย์เร่งทำแผนจัดการละเมิดสิทธิ์ ลุ้นปีหน้าปลดล็อกจากทุกบัญชีในอนาคต

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ปีนี้ ประเทศที่สหรัฐฯได้ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยจัดให้ไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) ซึ่งชื่นชมรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อย่างต่อเนื่อง มีการปราบปรามการละเมิดทั้งในท้องตลาดและบนอินเทอร์เน็ต

การพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยตอบโจทย์กับสถานการณ์ปัจจุบัน การเตรียมการเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ เช่น ความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ และสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์แห่งองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

สหรัฐฯ คงสถานะคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยเท่าเดิมที่ WL

อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ยังมีข้อห่วงกังวลในบางประเด็น อาทิ การคุ้มครองและการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในช่องทางต่างๆ เป็นต้น หลังจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ จัดทำแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) เพื่อผลักดันให้ไทยหลุดจากทุกบัญชีในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

“ปีนี้ สหรัฐฯ จัดอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) มี 23 ประเทศ เช่น ไทย เวียดนาม ปากีสถาน จีเรีย โรมาเนีย ตุรกี บราซิล แคนาดา  และเปรู เป็นต้น ส่วนบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) ในปีนี้มี 9 ประเทศ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย ยูเครน อาร์เจนตินา ชิลี และเวเนซุเอลา”

สหรัฐฯ คงสถานะคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยเท่าเดิมที่ WL

ทั้งนี้ผลการจัดสถานะประจำปีนี้ถือว่าน่าพอใจ และในฐานะที่กำกับดูแลกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่ร่วมแรงร่วมใจในการทำงานอย่างหนักมาโดยตลอด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกหน่วยงานจะร่วมมือกันต่อไป

การที่ไทยมุ่งมั่นพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะส่งผลให้ไทยสามารถรักษาสถานะในบัญชี WL ไว้ได้แล้ว ยังมีส่วนเสริมสร้างบรรยากาศทางการค้าการลงทุนในประเทศ และสร้างแรงจูงใจให้คนไทยคุ้มครองและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญามากยิ่งขึ้น อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ และข้ามผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน