posttoday

กฟผ.เร่งเครื่องพัฒนาโรงไฟฟ้า 4 ภาค ดันเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังหมดโควิด

04 พฤษภาคม 2564

กฟผ. เปิดแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าใน 4 ภาคทั่วประเทศ เดินตามกรอบพีดีพีใหม่ หวังเป็นกลไกสร้างงาน สร้างอาชีพ พลิกเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (พีดีพี2018) ว่า จะให้ความสำคัญกับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในรายภูมิภาค โดยแต่ละภาคจะต้องมีแหล่งผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักที่เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือนและภาคเศรษฐกิจและสอดรับกับระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนในอนาคต รวมทั้งช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลาย ก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น

สำหรับโครงการที่ กฟผ. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าทั้ง 4 ภาคประกอบไปด้วย1.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (Hydro-floating Solar Hybrid) ขนาด 45 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้าร้อยละ 93.30 และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2564

กฟผ.เร่งเครื่องพัฒนาโรงไฟฟ้า 4 ภาค ดันเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังหมดโควิด

นอกจากนี้ยังมี โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน ขนาดกำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการภายในเดือนธันวาคม 2564

2.ภาคกลาง โครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม) ขนาด 2,100 เมกะวัตต์ และ โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ระยะที่ 1 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาจากกระทรวงพลังงาน กกพ. และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในเรื่องรายงานศึกษาความเหมาะสมของโครงการ โดยโครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม) อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ครั้งที่ 3 เพื่อประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental and Health Impact Assessment : EHIA) และโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ระยะที่ 1 อยู่ในขั้นตอนการเตรียมจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ครั้งที่ 2 เพื่อประกอบการจัดทำรายงาน EIA

3.ภาคใต้ โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 - 2 ขนาดกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ และ 4.ภาคเหนือ โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 - 9 ขนาดกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกพ. และ สศช. ในเรื่องรายงานศึกษาความเหมาะสมของโครงการ

กฟผ.เร่งเครื่องพัฒนาโรงไฟฟ้า 4 ภาค ดันเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังหมดโควิด

ขณะเดียวกัน กฟผ. อยู่ระหว่างจัดทำรายงาน EIA ของโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 - 2 และรายงาน EHIA โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 - 9 ฉบับสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอ กก.วล. ซึ่งคาดว่าจะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 - 9 ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 และโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 - 2 ภายในเดือนมีนาคม 2565 การพัฒนาโรงไฟฟ้าของกฟผ. เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลโดยมีทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงควบคู่กันไป เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนในอนาคตเป็นไปอย่างราบรื่นและรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะทำให้พลังงานหมุนเวียนเกิดความเสถียร อย่างเช่น แบตเตอรี่ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา

ดังนั้นในระหว่างนี้โรงไฟฟ้าหลักเพื่อความมั่นคงจึงต้องเป็นโรงไฟฟ้าพี่เลี้ยงไประยะหนึ่งก่อน อีกทั้งการพัฒนาโรงไฟฟ้านี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลาย ทำให้เกิดการจ้างงาน และส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศเพิ่มขึ้นอีกด้วย