posttoday

GCNTชี้ธุรกิจยังเติบโตได้ในวิกฤตโควิดเร่งขับเคลื่อน5ยุทธศาสตร์หลัก

28 เมษายน 2564

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ผนึกกำลัง 67 องค์กรสมาชิกประกาศเดินหน้า 5 แผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT (Global Compact Network Thailand) เครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จัดประชุมคณะกรรมการบริหาร โดยผนึกกำลัง 67 องค์กรสมาชิก จับมือทุกภาคส่วน เดินหน้า 5 แผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนความยั่งยืนเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสำคัญในช่วงวิกฤติโควิด-19และหลังจากวิกฤติผ่านไปแล้วทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความยากจน และการทุจริต

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวในการประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ ว่า ในวิกฤตนั้นมีโอกาสอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมหรืออุตสาหกรรมใหม่  โดยระบุว่าในช่วง COVID-19 อุตสาหกรรมและธุรกิจที่เติบโต คือ เทคโนโลยี ดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ และธุรกิจสุขภาพ แสดงให้เห็นว่า ยังมีโอกาสให้ธุรกิจสามารถปรับตัวได้ แม้เป็นช่วงที่แย่ที่สุด และ หลายธุรกิจยังเติบโตได้ดีกว่าเดิม  พร้อมย้ำถึงเรื่องที่ใหญ่กว่า COVID-19 และยังจะอยู่ต่อไปเมื่อ COVID-19 ผ่านไปแล้ว เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความยากจน การทุจริต ซึ่งเป็นพันธกิจสำคัญของสมาคมฯ ที่ต้องผนึกกำลังภาคเอกชน ใช้วิสัยทัศน์มองไปข้างหน้า และร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว

GCNTชี้ธุรกิจยังเติบโตได้ในวิกฤตโควิดเร่งขับเคลื่อน5ยุทธศาสตร์หลัก

“วิกฤติ COVID-19 ได้สอนบทเรียนให้กับภาคธุรกิจหลายประการ ทำให้ได้เรียนรู้การเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส และมีวิสัยทัศน์ กล้าลงทุน ซึ่งความพยายามที่จะเสาะหาโอกาสและ pain points ต่างๆ จะส่งผลให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้  ดังนั้น พวกเราในฐานะผู้ประกอบการก็ควรจะมองเห็นปัญหาได้ก่อน รู้ก่อน และแก้ปัญหาก่อน” นายศุภชัย กล่าว

ทั้งนี้ สมาคมฯ จะเดินหน้า 5 ยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1: การสร้างความตระหนักรู้และความโปร่งใส (Awareness and Transparency) เพื่อส่งเสริมให้เกิด การเรียนรู้ การวัดผลการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และความโปร่งใส  อาทิ ร่วมมือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนสามารถรายงานข้อมูลตัวชี้วัดสองตัวที่สำคัญ ได้แก่ การปล่อย ก๊าซเรือนกระจกและสิทธิมนุษยชน ในการจัดทำรายงานแบบ One Report ได้อย่างครบถ้วน และเป็นระบบ รวมถึงความเป็นไปได้ในการขยายผลให้รายงานข้อมูลด้านอื่นด้วย อาทิ การกำจัดขยะ

ยุทธศาสตร์ที่ 2: การนำกลไกตลาดเข้ามาช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืน  (Market engagement) ร่วมกับองค์กรสมาชิกและพันธมิตร สร้างเนื้อหาที่สร้างความตระหนักถึงแนวทางการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม ผ่านเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจให้ ทุกคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลก โดยยึดตามหลักของ UN Global Compact และส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Action Learning อาทิ การแบ่งปันประสบการณ์การทำงานตาม SDGs 17 ข้อให้กับคนทำงานรุ่นใหม่และผู้สนใจ  ผ่านทางรายการ SDGs Talk เผยแพร่ทาง Social Media  การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการต่างๆ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : สร้างผู้นำยุคใหม่ในทุกระดับ (Leadership) ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง จนถึงผู้นำรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณผลประโยชน์ขององค์กร โดยร่วมมือกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อว.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสาธิตกระบวนการออกแบบหมุนเวียน หรือ “Circular Design” ให้ทั้งภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ ในอนาคตจะเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษา เพื่อขยายผลไปยังคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การยกย่องบุคคลที่ทำงานด้านความยั่งยืน (Empowerment & Recognition) เพื่อเป็นตัวอย่าง สร้างแรงจูงใจ และเพิ่มพลังให้ผู้ที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืน  เปิดโอกาสให้ผู้ทำงานด้านความยั่งยืนของแต่ละองค์กร นำเสนอทางออกในการแก้ไขประเด็นสังคมด้านต่างๆ ผ่านกิจกรรมที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรมและนำเสนอผ่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อยกย่องผู้มีผลงานโดดเด่นด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในงาน “SDGs Pioneer” ระดับโลก

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การใช้เทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม (Technology and innovation)   ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ อาทิ เรื่องของการใช้พลังงานทดแทน (Renewable energy) การจัดการขยะและ การนำกลับมาใช้ใหม่ (Waste and Recycle) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกและการลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนโดยรวมเป็นศูนย์ (Carbon Neutral)  โดยสมาคมฯ จะร่วมขับเคลื่อนด้านกฎระเบียบและแรงจูงใจร่วมกับภาครัฐ  รวมทั้งสื่อสารให้ผู้ผลิตและผู้บริโภค ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญในการเปลี่ยนวิถีการผลิตและการบริโภค เพื่อลดการใช้ทรัพยากร

นอกจากนี้ ปีนี้จะเป็นปีสำคัญสำหรับการหารือเรื่องความยั่งยืนในระดับโลก  โดยจะมีการประชุมสำคัญเกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เช่น การประชุม Leaders’ Summit ประจำปีแบบออนไลน์ของ UN Global Compact ในเดือนมิถุนายน การประชุมประจำปีด้านผู้นำความยั่งยืนของสมาคมฯ หรือ GCNT Forum 2021 ในเดือนสิงหาคม  การประชุม UN World Food Systems Summit ในเดือนกันยายนที่นครนิวยอร์ก และการประชุม COP26 ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศในเดือนพฤศจิกายน ที่สกอตแลนด์ เป็นต้น ซึ่งสมาคมฯ ในฐานะเครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะสื่อสารความเคลื่อนไหวและพัฒนาการเรื่องความยั่งยืนจากการประชุมดังกล่าว มายังองค์กรสมาชิกและผู้สนใจอย่างต่อเนื่องต่อไป