posttoday

หั่นค่าธรรมเนียมส่งออกข้าว เพิ่มดีกรีแข่งขันตลาดโลก

27 เมษายน 2564

ครม.ไฟเขียวลดค่าธรรมเนียมส่งออกข้าวไปยุโรป-สหราชอาณาจักร ช่วยผู้ประกอบการ ยอมแลกรายได้กองทุนส่งเสริมการค้าฯหายไปปีละ 22 ล้านบาท

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ รวม 2 ฉบับ เกี่ยวกับการส่งออกข้าวภายใต้โควตาภาษี และการลดค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการดำเนินการตามความตกลงระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหภาพยุโรป และความตกลงระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหราชอาณาจักร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันส่งออกข้าวไทยในตลาดโลก

ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันการส่งออกข้าวไทยประสบกับสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่งที่ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพและมีความหลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการปฏิบัติตามความความตกลงดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดโลกได้

สำหรับรายละเอียดของประกาศกระทรวงพาณิชย์ทั้ง 2 ฉบับ มีดังนี้ 1.ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งออกข้าวภายใต้โควตาภาษีไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร พ.ศ. ....  มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ข้าวขาว (พิกัดอัตราศุลกากร 1006.30) และข้าวหัก (พิกัดอัตราศุลกากร 1006.40) ที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองการส่งออก (Export Certificate) ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ ไปใช้ประกอบการขอใบอนุญาตนำเข้า (Import License) เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีหรือลดหย่อนภาษี และกำหนดให้การส่งออกข้าวขาวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษ

2.ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับข้าวขาว ข้าวหอม และข้าวนึ่งชนิด 100% (พิกัดอัตราศุลกากร 1006.30) ที่ส่งออกไปสหภาพยุโรป อัตราตันละ 1,500 บาท จากเดิมอัตราตันละ 2,500 บาท กรณีส่งออกไปสหราชอาณาจักรคิดอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษ ตันละ 1,200 บาท

น.ส.รัชดา กล่าว่า แม้การเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษการส่งออกข้าวในอัตราใหม่นี้ จะทำให้กรมการค้าต่างประเทศ เก็บเงินเข้ากองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศลดลงเหลือปีละประมาณ 31 ล้านบาท จากเดิมที่เคยเก็บได้ปีละ 53 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกได้มากขึ้น