posttoday

กนอ.เล็งตั้งบริษัทลูกจับธุรกิจใหม่ ดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

25 เมษายน 2564

“วีริศ" ผู้ว่าฯกนอ. ป้ายแดง เปิด 6 ภารกิจเร่งดึงลงทุนพื้นที่นิคมฯหลังโควิด สานต่อมาบตาพุด เฟส3 – นิคมฯสมาร์ทปาร์ค เตรียมปั้นบริษัทลูกรองรับธุรกิจใหม่ สร้างรายได้ ระยะยาว

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงนโยบายการดำเนินงาน ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.ว่าจะสานต่องานเดิมที่วางไว้ แต่จะมีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน โดยแผนงานไว้ 6 กลุ่มที่สำคัญ  ได้แก่ 1.เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ เร่งหาแนวทางการดึงดูดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมให้เพิ่มมากขึ้น โดยจะใช้ทั้งมาตรการการตลาดและมาตรการเชิงรุกออกไปหารือกับนักลงทุนโดยตรง รวมทั้งเร่งสื่อสารทางการตลาดประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลศักยภาพของนิคมอุตสาหกรรม แก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้มากขึ้น

2.เร่งสานต่อนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ได้แก่ การเร่งดำเนินโครงการสมาร์ท ปาร์ค และเร่งรัดโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 โดยทั้ง 2 โครงการนี้ ถือได้ว่าเป็นโครงการหลักที่สำคัญในการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)  ขณะที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ)  โดยเฉพาะนิคมฯ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กนอ. ได้แก่ นิคมฯ สระแก้ว นิคมฯ สงขลา ต้องเร่งส่งเสริมการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย และจัดทำแผนการตลาดที่เหมาะสม

3.แผนลดความเสี่ยงในทุกด้านที่จะกระทบต่อการดำเนินกิจการในนิคมฯ ของ กนอ. โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำและพลังงาน เช่น การจัดทำแผนงานและแนวทางการบริหารแหล่งน้ำดิบให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า การหาและสร้างระบบจัดเก็บแหล่งน้ำดิบ สำรอง การส่งเสริมระบบเก็บน้ำฝนของอาคารและสถานประกอบการ การส่งเสริมระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Water Recycle) และการทำน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด เป็นต้น  ซึ่งบางมาตรการอาจต้องใช้เงินลงทุนสูงก็มีแผนที่จะร่วมมือกับบริษัทพันธมิตรที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำเข้ามาร่วมลงทุน

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า โดยจะเร่งจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอในระยะยาว มีระบบสำรองและเทคโนโลยีในการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นจนส่งผลต่อการจ่ายกระแสไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมชั้นสูงที่ต้องการกระแสไฟฟ้าที่มีคุณภาพ มีความเสถียรสูง

รวมทั้งการจัดหาพลังงานทางเลือก เช่น การผลิตไฟฟ้าจาก Solar Floating หรือการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ซึ่งเดิมมีการดำเนินการไปแล้ว แต่จะทำให้ยั่งยืนขึ้นด้วยการเปลี่ยนวัสดุที่สามารถแช่น้ำได้นานเป็น 10 ปี โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ กนอ.อาจจะขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าในพื้นที่นิคมฯ ที่สนใจพลังงานสะอาด ซึ่งจะนำไปสู่เรื่องการทำเรื่อง Carbon Credit ต่อไป

“กนอ.จะต้องลงทุนในระบบเพื่อให้การจ่ายกระแสไฟฟ้ามีคุณภาพสูงสุด ป้องกันความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เหมือนเหตุการณ์เมื่อเร็วๆนี้ ที่เกิดฟ้าผ่าบริเวณใกล้สายส่งทำให้เครื่องจ่ายไฟฟ้าของหน่วยผลิตไฟฟ้าของบริษัทหยุดทำงาน เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังโรงงานต่างๆ ในนิคม”นายวีริศ กล่าว

4.สิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุด โดยมีแผนจัดหามาตรการสิทธิประโยชน์สนับสนุนให้กับโรงงานที่มีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม มีการดำเนินการที่ดีมายาวนาน ซึ่งจะต้องเป็นสิทธิประโยชน์ที่จับต้องได้จริง โดยจะเข้าไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กรมสรรพากร และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น เพื่อจัดทำสิทธิประโยชน์ให้กับโรงงานที่ได้มาตรฐานในระดับสูง ส่วนโรงงานที่ดำเนินการไม่ถูกต้องและปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจะต้องมีมาตรการกำกับดูแลที่ชัดเจน ซึ่งมาตรการทั้ง 2 ด้านนี้จะดึงดูดให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

5.แผนหาช่องทางในธุรกิจใหม่ๆ (New Business) เช่น การตั้งบริษัทลูก หรือร่วมทุนในธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และเป็นการบริหารสินทรัพย์และบุคลากรให้มีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากขึ้น  โดยสามารถขยายไปสู่การผลักดันให้บริษัทลูกเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดการระดมทุนและพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างรายได้ระยะยาวให้กับ กนอ.

และ 6.พัฒนาบุคลากร เสริมศักยภาพด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านไอที ระบบดิจิทัล และแพลตฟอร์มใหม่ๆ  การพัฒนาด้านภาษาให้กับพนักงาน ที่ควรจะสื่อสารภาษาที่ 3 ได้ นอกจาก ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะนักลงทุนในนิคมฯ มาจากต่างชาติทั่วโลก โดยมีแผนฝึกอบรม online ให้พนักงานพัฒนาศักยภาพของตัวเอง และส่งไปฝึกอบรม นอกองค์กร