posttoday

โควิดรอบ 3 ฉุดเงินหายจากเศรษฐกิจไทย 2-3 แสนล.

22 เมษายน 2564

ม.หอการค้าฯ ชี้รัฐต้องเร่งอัดฉีดเงิน 2 แสนล้านเข้าระบบ ปลุกคนละครึ่งเฟส 3-ช้อปช่วยชาติพลัส-บ้านหลังแรก เชื่อมือรัฐบาลจัดการโควิดได้ใน 2 เดือน หวังไตรมาส 3 เศรษฐกิจฟื้น

ผศ.ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย  อธิบการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เปิดเผยถึง ผลสำรวจการประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ว่า ภาพรวมผลกระทบที่เกิดขึ้น จากสถานการณ์โควิดรอบที่ 1 ยังมากที่สุดเนื่องจากมีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ  ในขณะที่รอบที่ 3 มีการล็อกดาวน์บางพื้นที่ แต่เกิดปัญหาผลกระทบสะสม และทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลง 0.62% ต่อเดือน หรือคิดเป็นมูลค่า 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ปัญหาโควิดรอบ3 ที่เกิดขึ้นได้ส่งเม็ดเงินเศรษฐกิจหายไป 2-3 แสนล้านบาท และ ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการอะไรออกมาเลย จีดีพีจะโตแค่ 1.2 %  ดังนั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะมีการบริหารจัดการอย่างไร โดยเฉพาะการนำเงินกู้ที่เหลืออีก 2 แสนล้านบาทมาอัดฉีดเพิ่มสภาพคล่องในระบบในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาในการจัดการกับโควิดรอบนี้ได้ไม่เกิน 2 เดือนและสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ในไตรมาส 3

“ เงิน 2 แสนล้านบาทของรัฐบาลที่เหลืออยู่คิดว่ามีโอกาสเพียงพอในการเยียวยาเศรษฐกิจได้ ยังไม่จำเป็นต้องเปิดเพดานเงินกู้ใหม่  ซึ่งจะช่วยชดเชยการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดลงไป15% ได้ ส่วนที่กังวลว่าจีดีพีปีนี้จะเป็น0% นั้น ถ้าเกิดโควิดรอบ4ก็เป็นไปได้”

นายธนวรรธน์  กล่าวว่า สถานการณ์น่าจะคลี่คลายได้ไม่เกินเดือนก.ค.  และคืนสู่สภาพปกติได้ในช่วง 15-23 เดือน  สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการตอนนี้ เร่งดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีนร่วมกับภาคเอกชน  การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้การจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม และสนับสนุนมาตรการด้านการเงิน เช่น สภาพคล่อง การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพักขำระหนี้  โดยเฉพาะเอสเอ็มอี

ด้านนายวิเชียร แก้วสมบัติ  ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับนโบบายเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มจีดีพี คือ1.โครงการคนละครึ่งเฟส3 จัดสรรงบ 57,190 ล้านบาทให้กับผู้ที่เคยได้รับเฟส1-2  จำนวน 16.34 ล้านราย ในอัตรา 3,500 บาท ต่อราย รวม 114,380 ล้านบาท

2.เพิ่มมูลค่าส่งออก ในช่วง 8 เดือนที่เหลือ อีก  73,920 ล้านบาท  โดยรักษาค่าเงินบาทให้อยู่ที่ 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ 3. กระตุ้นการบริโภคในประเทศ เช่นโครงการช็อปช่วยชาติพลัสเพิ่มลดหย่อนภาษีไม่เกิน 1 แสนบาท  โครงการบ้านหลักแรกปี2564  และโครงการรถยนต์ไฟฟ้าคันแรก  รวมมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท

4. กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ  เช่นโครงการพักสุดหรู  ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1 แสนบา รวม มูลค่า 2,000 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งหมด 200,300  ล้านบาท