posttoday

เกษตรฯ กำชับภาคตะวันออกตัดทุเรียนแก่ดีเดย์ “10 เม.ย. นี้” แก้ปัญหาทุเรียนอ่อน

10 เมษายน 2564

เกษตรฯ กำชับชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ตัดทุเรียนคุณภาพ เริ่ม 10 เม.ย. 2564 นี้ หวังสกัดปมปัญหาทุเรียนอ่อน พร้อมยกระดับมาตรฐานสุขอนามัย ตั้งแต่สวนทุเรียน ล้ง พร้อมตั้งชุดเฉพาะกิจตรวจสอบ สร้างมั่นใจใผู้ซื้อทุเรียนช่วงสงกรานต์นี้

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้เร่งขับเคลื่อนงานส่งเสริมและพัฒนาไม้ผลภาคตะวันออก ปี 2564 โดยคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้มีแผนบริหารจัดการผลไม้ โดยเฉพาะผลผลิตทุเรียนที่เริ่มออกสู่ตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว ภาพรวมผลผลิตทุเรียนปีนี้อยู่ที่ 579,542 ตัน แบ่งเป็น กระจายผลผลิตในประเทศ 115,279 ตัน แปรรูป 55,030 ตัน และส่งออก 409,233 ตัน 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ยังมีอยู่บ้างเป็นเรื่องของการเก็บเกี่ยวให้ได้ระยะที่ถูกต้อง จึงมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ประสานความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก สมาคมทุเรียนไทย ผู้ประกอบการส่งออก ภายใต้การกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อกำหนดแนวทางในการควบคุมป้องกันและแก้ไขทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด

ขณะที่ ปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประกาศดีเดย์ให้วันที่ 10 เมษายน 2564 เป็น “วันทุเรียนแก่” ของทุเรียนหมอนทองภาคตะวันออกโดยไม่แยกรายจังหวัด ซึ่งจะเป็นช่วงเน้นหนักในการตรวจสอบคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกร ล้ง และผู้ส่งออก รับรู้ทั่วกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวทุเรียนให้แจ้งความประสงค์ที่กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน หรืออาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เพื่อแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ให้ลงไปตรวจสอบความสุกแก่ของทุเรียนตามมาตรฐานที่กำหนด โดยทุเรียนที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว สำนักงานเกษตรอำเภอจะออกใบรับรองเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนเฉพาะตัวอย่างแนบไปกับรถขนส่งทุเรียนเข้าโรงคัดบรรจุพร้อมสำเนาใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช เพื่อคุมเข้มสกัดกั้นไม่ให้ทุเรียนอ่อนออกนอกพื้นที่

ส่วนโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ให้แจ้งความประสงค์ที่ด่านตรวจพืชตามพื้นที่ความรับผิดชอบของด่านตรวจพืชแต่ละด่าน โดยให้ด่านตรวจพืชฯ ประสานแจ้งไปยังสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 เพื่อตรวจคุณภาพทุเรียนตามมาตรฐาน ซึ่งโรงคัดบรรจุที่รับซื้อทุเรียนจะต้องตรวจสอบใบรับรองเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนและสำเนาใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืชจากสวนเกษตรกรด้วย เพื่อใช้ในการยื่นต่อด่านตรวจพืชก่อนส่งออก

นอกจากนี้ กรมฯ ยังสั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดจัดตั้งจุดเฉพาะกิจตรวจสกัดกั้นทุเรียนอ่อน และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง จัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังทุเรียนอ่อนเพื่อติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ส่วนบทลงโทษการซื้อขายทุเรียนที่เก็บเกี่ยวก่อนระยะเหมาะสม กรณีเกษตรกรจะพิจารณาพักหรือเพิกถอนการใช้ใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช เช่นเดียวกับโรงคัดบรรจุ (ล้ง) จะพักหรือเพิกถอนการใช้ใบรับรองโรงคัดบรรจุ GMP 

ทั้งนี้ จากผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว พบว่า เกษตรกรมีความตื่นตัวให้ความร่วมมือในการนำทุเรียนมาให้สำนักงานเกษตรอำเภอตรวจสอบเป็นจำนวนมาก และราคาทุเรียนในพื้นที่ไม่ลดต่ำเหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดและผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในคุณภาพผลผลิต รวมทั้งยังส่งผลถึงภาพลักษณ์คุณภาพทุเรียนไทยก่อนส่งออกต่างประเทศอีกด้วย               

ด้านนายธีรภัทร อุ่นใจ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน บริษัท แปลงใหญ่ทุเรียนคิชฌกูฏ จำกัด กล่าวว่า ทางกลุ่มได้มีการประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกในกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนทั้งหมด ทำทุเรียนให้ได้ตามมาตรฐาน GAP ซึ่ง GAP เป็นการสร้างมาตรฐานขั้นต้นสำหรับเกษตรกรชาวสวนโดยทั่วไป เมื่อได้มาตรฐาน GAP เรียบร้อยก็ปฏิบัติตามระเบียบทั้ง 8 ข้อ อันดับแรก คือ เรื่องการจดบันทึกวันที่ดอกบาน สำหรับทุเรียนหากบันทึกวันดอกบานจะรู้ถึงระยะการเก็บเกี่ยวได้อย่างชัดเจน เช่น หมอนทองอายุการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 120วัน  ถ้าส่งออกอยู่ที่ 100 ถึง 110 วัน จะได้ไม่มีปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด 

อันดับสอง สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคโดยกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนจะทำระบบคิวอาร์โค้ดเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้แปะไว้ที่ขั้วของทุเรียน ซึ่งผู้บริโภคจะได้ทราบวันเก็บเกี่ยว รวมถึงรู้ว่าทุเรียนนี้มาจากสวนใครและรับประทานได้วันไหน เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ซื้อทุเรียนในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้