posttoday

เสี่ยงตกงานเพิ่มจากพิษโควิดรอบใหม่

23 กุมภาพันธ์ 2564

แรงงานในสถานประกอบการขนาดเล็กสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ค้าปลีกและค้าส่ง เสี่ยงตกงานลดค่าจ้าง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลง ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2563 ว่า ปี 2563 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่ม และชั่วโมงการทำงานลดลง โดยกำลังแรงงานในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 38.5 ล้านคน หรือขยายตัว 1.0% การจ้างงานขยายตัว 0.2% จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 0.3% ส่วนการจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง 0.1% อัตราการว่างงานปี 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 1.69% เพิ่มจากปี 2562 ที่ 0.98% และชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยลดลง โดยชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือลดลง 5.7%

ขณะที่แรงงานที่ทำงานล่วงเวลา (ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวนลดลง 17.1% ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้แรงงานมีรายได้ลดลงและอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนช่วงครึ่งปี 2563 พบว่า ครัวเรือนมีรายได้ 23,615 บาท ปรับตัวลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้ 26,371 บาท หรือมีรายได้ลดลง 10.45%

ปัจจัยเสี่ยงด้านแรงงานปี 2564 ได้แก่

(1) ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด -19 ระลอกใหม่และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หากมีการระบาดระลอกใหม่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดในรอบแรก อาจจะปรับลดตำแหน่งงานลง หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน โดยเฉพาะแรงงานในสถานประกอบการขนาดเล็กสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ค้าปลีกและค้าส่ง ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระจะมีรายได้ลดลงจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน ทั้งนี้ หากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ รวมทั้งมีความล่าช้าในการได้รับวัคซีน และกระจายให้กับประชาชน แรงงานอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงและยาวนานขึ้น

(2) สถานการณ์ภัยแล้ง กระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรโดยเฉพาะในกลุ่มพืชที่ใช้น้ำมาก

(3) การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มทักษะด้านเทคโนโลยี และดิจิทัล จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สถานประกอบการที่การจ้างงานเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและดิจิทัลมีการขยายตัวอย่างมาก เนื่องจากการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งหุ่นยนต์ ระบบปัญญาประดิษฐ์ และอินเทอร์เน็ต ขณะที่การผลิต การยก/เปลี่ยนระดับทักษะแรงงานด้านเทคโนโลยียังไม่ตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการตลาดแรงงาน ประกอบด้วย (1) การรักษาระดับการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงนโยบายเสริมสภาพคล่องของภาครัฐ เพื่อรักษาการจ้างงานในช่วงวิกฤต และเร่งรัดการดำเนินงานภายใต้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ลงสู่พื้นที่โดยเร็ว รวมทั้งส่งเสริมการจ้างงานผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงงานมากขึ้น

(2) การจัดเตรียมมาตรการรองรับปัญหาภัยธรรมชาติที่จะส่งผลต่อแรงงานเกษตร โดยต้องวางแผนบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในแต่ละพื้นที่ และส่งเสริมอาชีพเสริมให้กับแรงงานในช่วงที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ รวมถึงการสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุน และการตลาด

(3) การสนับสนุนการพัฒนาทักษะ ปรับทักษะ และสร้างทักษะใหม่ให้กับแรงงาน เพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยการเร่งประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ที่รัฐจัดให้จากการฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงานของสถานประกอบการ การส่งเสริมการเข้าถึงบริการเรียนรู้ทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มของภาครัฐ อาทิ “ไทยมีงานทำ” ของกระทรวงแรงงาน และ “Futureskill—newcareer.in.th” ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม