posttoday

เศรษฐกิจโลกฟื้น-วัคซีนเรียกเชื่อมั่น ดันส่งออกโต 0.35%

23 กุมภาพันธ์ 2564

'พาณิชย์' จับสัญญาณส่งออกไทยปรับตัวดีขึ้น ตามเศรษฐกิจโลก ความเชื่อมั่นวัคซีนโควิด คาดครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 3-5% ขณะที่สินค้าดาวรุ่งยังเป็นอาหาร เครื่องมือแพทย์ สินค้า Work from Home

นายภูสิต  รัตนกุล  เสรีเริงฤทธิ์  ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนมกราคม 2564 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนธันวาคมปีก่อน โดยมีมูลค่า 19,706.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.35  ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 19,908.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.24 ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 202.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้แม้ยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่การส่งออกของไทยในเดือนมกราคมขยายตัว และมีมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (18,319 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งประสิทธิภาพของวัคซีนเริ่มเห็นผลชัดเจน และมีการกระจายวัคซีนในวงกว้าง ส่งผลให้เกิดอุปสงค์และสร้างความเชื่อมั่นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.57 ซึ่งสะท้อนการเติบโตจากภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่1. สินค้าอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร

2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เช่น เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโทรศัพท์   3.สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด   เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ และถุงมือยาง และ 4.กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญเริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น รถยนต์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก

ด้านตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และตะวันออกกลาง ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ตลาด CLMV พลิกกลับมาเป็นบวกในรอบ 10 เดือน

นายภูสิต  กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกไทยปี 2564 จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีความชัดเจน  และสามารถควบคุมสถานการณ์โควิดได้ในหลายประเทศ โดยคาดการณ์ครึ่งปีแรกการส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ 3-5 %  ขณะที่ครึ่งปีหลังจะขยายตัวที่ระดับ 3-4%