posttoday

กกร.ยังไม่ปรับจีดีพี ดันฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ

03 กุมภาพันธ์ 2564

กกร.ชี้ 2 ปัจจัยดันเศรษฐกิจฟื้น คุมโควิด-เร่งเยียวยาผลกระทบ เสนอรัฐบาลยกการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทั้งในไทยและต่างชาติ ขณะที่ห่วงการเมืองในเมียนมาเปิดช่องแรงงานไหลมาไทยมากขึ้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และส.อ.ท. (กกร.) ว่า ที่ประชุม กกร.ได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยโดยยังคงเป้าอัตราการเติบโตปี 2564 ในกรอบ 1.5- 3.5% การส่งออกขยายตัว 3- 5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 0.8- 1.0% โดยภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ยังถูกกดดันจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังไม่คลี่คลายและมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจำเป็นต้องเร่งตรวจเชิงรุกและแยกผู้ติดเชื้อ และ 2. มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศ ความท้าทายหลักจะอยู่ที่ตลาดแรงงานซึ่งมีความเปราะบาง เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายจังหวัดได้ซ้ำเติมธุรกิจหลายประเภทที่ยังไม่ทันได้ฟื้นตัวจากการระบาดครั้งก่อน โดยคาดว่าแรงงานที่มีชั่วโมงการทำงานต่ำกว่าศักยภาพจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อรายได้และกำลังซื้อโดยรวมลดลง

หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินได้อย่างต่อเนื่องในปี 2564 แม้เศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกของปี 2564 จะมีแนวโน้มชะลอลง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้นในหลายประเทศ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเหล่านั้นเริ่มลดลง ประกอบกับหลายประเทศดำเนินการฉีดวัคซีนไปแล้ว และมีจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะสามารถกลับมาผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคได้ในระยะถัดไป ซึ่งจะทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ตลอดจนความสามารถในการส่งมอบวัคซีนในหลายประเทศที่อาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

นอกจากนี้กกร.ขอให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องวัคซีน โดยให้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับต่างประเทศ ทั้งในภาคเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยว (Vaccine Passport) ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐจัดทำกระบวนการและวิธีการในการฉีดและกระจายวัคซีนให้ชัดเจน และทั่วถึงเพียงพอต่อจำนวนประชากรในภายภาคหน้า รวมถึงแรงงานต่างด้าว โดยภาคเอกชนยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐเรื่องค่าใช้จ่าย โดยขอลดหย่อนภาษีเรื่องการฉีดวัคซีน

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ได้หารือถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเมียนมา ซึ่งมีความกังวลว่าหากมีการแทรกแซงทางการเมืองจากต่างประเทศ อาจส่งให้การค้าระหว่างไทยกับเมียนมาได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าจากไทย และขอให้การเปลี่ยนถ่ายอำนาจของรัฐบาลเมียนมาเป็นไปโดยสงบ และให้คงข้อตกลงหรือสัญญากับประชาคมต่าง ๆ

ทั้งนี้สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และองค์การสหประชาชาติ(UN) มีโอกาสแซงชั่นสูงมาก ดังนั้นมีโอกาสที่การลงทุนในเมียนมาต้องหยุดหรือชะลอออกไป ซึ่งไทยจำเป็นจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและอย่าอิงกระแสตะวันตกขอให้เน้นการเจรจาเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการลงทุนไทยในเมียนมาอยู่ที่ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยังเชื่อว่บรรยากาศการลงทุนระหว่างไทย-เมียนมา ยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น ด้านพลังงาน ขณะที่การปิดด่านชายแดนไทยและเมียนมา หากเป็นแค่ชั่วคราวระยะสั้น 30 วัน ยังไม่มีผลกระทบมาก เพราะเมียนมายังต้องพึ่งพาสินค้าจากไทย และที่ต้องระวังคือแรงงานเมียนมาจะมาไทยมากขึ้น หากเศราฐกิจเมียนมาไม่ดี