posttoday

ครั้งแรกในไทย! ครม.อนุมัติแนวปฏิบัติ "จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์"

02 กุมภาพันธ์ 2564

ที่ประชุมครม.อนุมัติแนวปฏิบัติคุมจริยธรรม "เอไอ" ครั้งแรกของประเทศไทย หวังหน่วยงานเอาไปใช้งานทั้งด้านส่งเสริม และกำกับดูแล

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อให้หน่วยงานราชการนำไปใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุน รวมถึงกำกับดูแลเทคโนโลยีเอไอให้มีความน่าเชื่อถือมั่นคงปลอดภัย และมีจริยธรรม โดยให้ทำออกมาในรูปแบบของบัญชีกิจกรรม ซึ่งจะกำหนดขอบเขตการดำเนินงานเรื่องต่างๆ เอาไว้ และนอกเหนือจากรัฐจะนำไปใช้แล้ว ยังให้ทุก ๆ องค์กรนำแนวปฏิบัติ จริยธรรมนี้ไปปรับใช้ ตามความเหมาะสมของทรัพยากร และระบบการบริหารจัดการภายในองค์กรต่อไป

สำหรับกรอบแนวทางปฏิบัตินั้น กำหนดให้ครอบคลุม 3 กลุ่ม คือ ผู้กำหนดระเบียบ และกำกับดูแล เช่น ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงาน หรือผู้จัดการโครงการต่างๆ ,องค์กรวิจัย หรือนักวิจัย บริษัทที่ออกแบบและพัฒนาระบบ ผู้ให้บริการระบบเอไอกับผู้ใช้งาน และผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากระบบเอไอ

พร้อมกันนี้ยังกำหนดให้ทุกองค์กรจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมเอไอขึ้นมา โดยมีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์ละผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอไอ เพื่อกำหนดเป้าหมายระดับการปฏิบัติ และกระบวนการทำงานในภาพรวม

ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มี ข้อเสนอแนะว่า ควรให้มีการสร้างความเข้าใจที่ชัดเจน รวมถึงแนวทางการดำเนินงานและการนำไปใช้ประโยชน์ที่แท้จริง ในการพัฒนาเอไอไปสู่ภาคอุตสาหกรรม และควรนำหลักการของมาตรฐานทางจริยธรรมตามพ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562 มาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดแนวปฏิบัติ

สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับ เอไอเพิ่มเติม รวมทั้งควรปรับปรุงแนวปฏิบัตินี้ ให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และสื่อสารได้ง่ายต่อทุกกลุ่ม เช่นเดียวกับการควบคุมและการกำกับดูแลให้นำปัญญาประดิษฐ์ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและมีจริยธรรม

อย่างไรก็ดี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเห็นว่า แนวปฏิบัติจริยธรรมฯ ถือเป็นกรอบแนวคิดใหม่สำหรับประเทศไทยและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถนำแนวปฏิบัติจริยธรรมฯ ไปสู่การปฏิบัติได้ อย่างถูกต้องและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้น ในการดำเนินการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมควรพิจารณาหารือ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติจริยธรรมดังกล่าว ทั้งในประเด็นของหลักคิด นิยาม และแนวทางการแปลงแนวปฏิบัติจริยธรรมฯ ไปสู่การปฏิบัติของแต่ละหน่วยงาน โดยคำนึงถึงหลักการของมาตรฐานทางจริยธรรมตามพระราชบัญญัติ มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562 และศึกษาแนวทางการสร้างจริยธรรมฯ เพิ่มเติมด้วย