posttoday

“อมตะ” เบรคหัวทิ่มลงทุนนิคมฯเมียนมา หวั่นการเมืองยื้อนาน

02 กุมภาพันธ์ 2564

“อมตะ”ชะลอแผนลงทุนนิคมฯเมืองอัจฉริยะอมตะย่างกุ้ง หลังลงทุนไปแล้ว 140 ล้านบาท เกาะติดปัญหาการเมืองในเมียนมาวันต่อวัน หวั่นนานาชาติบอยคอตกระทบการค้าการลงทุน ลุ้นนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อ

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะคอร์ปเรชัน จำกัด (มหาชน) (AMATA) เปิดเผยว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ทำให้อมตะตัดสินใจชะลอแผนการลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรม เมืองอัจฉริยะอมตะย่างกุ้ง (Yangon Amata Smart & Eco City, YASEC) หลังจากได้รับใบอนุญาต (license)จากรัฐบาลเมียนมาในการประกอบกิจการนิคมอุตสาหกรรม บนพื้นที่ 5,000 ไร่ โดยปัจจุบันได้พัฒนาพื้นที่เฟสแรกแล้วใช้งบลงทุน 140 ล้านบาท พื้นที่ 500 ไร่ ตั้งแต่ปลายเดือนธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้จากการประเมินในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการแพร่ระบาดโควิด 19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงการ ที่ต้องล่าช้าออกไปอีก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของกลุ่มลูกค้า ที่อยู่ระหว่างการเจรจาเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ประมาณ 20 ราย ที่มีทั้งญี่ปุ่น และ ยุโรป ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติทั้ง 100% “นักลงทุนต่างชาติโดยส่วนใหญ่กังวลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของรัฐบาลเมียนมา โดยเฉพาะกลุ่มยุโรป และสหรัฐเนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มักจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายการแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งอาจจะได้เห็นการบอยคอตจากนานช้า และอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศเมียนมาในระยะต่อไป แต่อย่างไรก็ตามคงต้องรอความชัดเจนนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเมียนมาต่อไป” นายวิบูลย์ กล่าว

อย่างไรก็ตามแผนการพัฒนาโครงการดังกล่าวในระยะต่อไป อมตะ เตรียมแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากเกิดกรณีที่นักลงทุนยังไม่ตัดสินใจเข้ามา จึงจำเป็นต้องเลื่อนการพัฒนาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบไฟฟ้าและระบบน้ำ แต่เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติก็คงเดินหน้าพัฒนาโครงการดังกล่าวต่อไป

สำหรับแผนการพัฒนานิคมฯโครงการในเมียนมา เป็นการขยายพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น ในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงาน ถือเป็นพื้นที่มีศักยภาพที่มีความพร้อมในการสร้างความได้เปรียบทางการค้า เนื่องจากเป็นประเทศที่เปิดใหม่ มีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำ ประกอบกับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออก ดังนั้นหากรัฐบาลเมียนมา ใช้หลักการในระบอบประชาธิปไตย ก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและต่างประเทศได้