posttoday

ไทยวอนฟิลิปปินส์ ระงับตอบโต้การค้ากรณีภาษีบุหรี่

02 กุมภาพันธ์ 2564

รัฐและเอกชนไทยขอร้อง ฟิลิปปินส์ ระงับตอบโต้การค้าขึ้นภาษีสินค้าไทยหลายรายการ จากกรณีพิพาทภาษีบุหรี่

ตัวแทนภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมไทยขอร้องรัฐบาลฟิลิปปินส์ ระงับแผนการตัดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทย เพื่อตอบโต้ที่ไทยไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินองค์การการค้าโลกกรณีของพิพาทบุหรี่นำเข้า

ในการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของคณะกรรมการพิกัดอัตราภาษีศุลกากรของฟิลิปปินส์ (Tariff Commission: TC) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (27 มกราคม) ผู้บริหารสมาคมการค้ารวมถึงผู้ส่งออกรายต่างๆ ของไทย ได้เรียกร้องให้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (DTI) ของฟิลิปปินส์ ยุติแผนการระงับสิทธิทางศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากประเทศไทย โดยกล่าวว่าฟิลิปปินส์ควรรอให้องค์การการค้าโลก (WTO) เป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้

ในเรื่องนี้ แองเจโล ซัลวาดอร์ เบเนดิกโตส ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์การค้าระหว่างประเทศของ DTI กล่าวตอบโต้ว่า ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยควรเรียกร้องให้ผู้นำของพวกเขาดำเนินการตามคำตัดสินของ WTO เกี่ยวกับข้อพิพาทบุหรี่และปฏิบัติให้สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ระบุไว้ในคำตัดสินดังกล่าว

เขากล่าวว่าข้อพิพาท WTO คดีการนำเข้าบุหรี่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2551 แม้ว่าไทยถูกตัดสินให้แพ้ในชั้นพิจารณาคดี และในการอุทธรณ์อีกด้วย แต่ประเทศไทยก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตามคำสั่งของ WTO ทำให้ฟิลิปปินส์ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากตัดสินใจตอบโต้ทางการค้าด้วยการขึ้นอัตราภาษี

“เราต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้จากประเทศไทยโน้มน้าวให้รัฐบาลของตนดำเนินการในสิ่งที่เราคาดหวังอันเนื่องมาจากผลของการตัดสินในคดีนี้” เบเนดิกโตส ระบุ

นอกจากนี้เบเนดิกโตสยังให้คำมั่นว่าผู้ประกอบการของฟิลิปปินส์ที่นำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องจากประเทศไทย จะได้รับความเสียหายไม่มากจากการระงับสิทธิประโยชน์ทางภาษีครั้งนี้ แม้ว่าเขาจะไม่ได้เปิดเผยว่าจะมีแผนการอย่างไร แต่กล่าวว่า DTI กำลังร่างแผนงานเพื่อป้องกันความเสียหายในประเทศให้น้อยที่สุด และตรวจสอบให้แน่ใจว่าการตอบโต้อย่างรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกของไทยมากกว่าทางฝั่งฟิลิปปินส์

นางสาวกนิษฐา กังสวนิช ผู้แทนจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทยขอให้ DTI ยกเลิกมาตรการตอบโต้การค้าไทย โดยระบุว่า “คำอุทธรณ์ของไทยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของการค้าโลก และฟิลิปปินส์ต้องรอให้คณะกรรมการมีคำตัดสินออกมา อีกทั้งยังชี้ว่า คณะผู้เจรจาของ DTI ควรรอให้องค์กรระงับข้อพิพาทของ WTO อนุมัติคำร้องให้ดำเนินการระงับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของสินค้าไทย

สิ่งที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศไทยกล่าวสะท้อนว่า แม้ประเทศไทยจะล้มเหลวในการปฏิบัติตามคำตัดสินของ WTO มานานหลายต่อหลายปี แต่ประเทศไทยก็ยังมองว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับฟิลิปปินส์ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎการค้าพหุภาคี

ด้าน สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) ก็ได้ขอให้ DTI ชะลอการดำเนินการลงโทษประเทศไทยอีกด้วย โดยให้เหตุผลว่าอุตสาหกรรมเพิ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการปกป้องการนำเข้า ที่ DTI จัดเก็บภาษีจากการนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลในอัตราคันละ 70,000 เปโซต่อคัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กในอัตรา 110,000 เปโซต่อคันTAIA ระบุว่ารถยนต์ที่ผลิตและนำเข้าแบบทั้งคันที่ฟิลิปปินส์นำเข้าจากไทยมีมูลค่าอย่างน้อย 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในปี 2561 และ 2562 แต่ลดลงเมื่อปีที่แล้วเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการล็อกดาวน์

TAIA คาดว่ามูลค่าธุรกิจปี 2564 ของอุตสาหกรรมฯ จะลดลงจากมาตรการป้องกันการนำเข้าที่รัฐบาลฟิลิปปินส์เรียกเก็บจากรถยนต์นำเข้าและโอกาสในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอาจหายไป หากมีมาตรการตอบโต้ดังกล่าวออกมา นอกจากนี้ ทางสมาคมยังได้สอบถามว่าถึงเหตุผลที่ DTI ตั้งเป้ากำหนดอัตราการลงโทษทางภาษีสำหรับสินค้าที่อยู่นอกกลุ่มยาสูบ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์ได้ยื่นคำร้องต่อ WTO เพื่อขอระงับสิทธิประโยชน์และภาระผูกพันทางภาษีที่ครอบคลุมการนำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่า 594 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อตอบโต้การที่ไทยไม่ยอมปฏิบัติให้สอดคล้องตามคำตัดสินของ WTO ในคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับการนำเข้าบุหรี่ของทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ชนะข้อพิพาทคดีนำเข้าบุหรี่ตั้งแต่ปี 2554 แต่ไทยก็ยังคงไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติที่มีในคำตัดสินของ WTOหากคำร้องขอใช้สิทธิตอบโต้ได้รับการอนุมัติ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของไทย อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลืองเครื่องปรุงรส และครีมเทียมที่ไม่ใช่นม ตลอดจนยานยนต์ รถแทรกเตอร์สำหรับการเกษตร ถังน้ำมัน และอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์และชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ จะได้รับผลกระทบจากการถูกระงับระงับสิทธิประโยชน์ทางภาษี