posttoday

"สุพัฒน์พงษ์" เดินเกมรุกตั้งเป้าดึงลงทุนอีอีซี3แสนล้าน

01 กุมภาพันธ์ 2564

"สุพัฒน์พงษ์" เร่งการลงทุนในอีอีซีเชิงรุก เจาะอุตสาหกรรมเป้าหมายหลังมีสัญญาณย้ายฐาน มั่นใจไทยพร้อมทุกด้าน ปักธงปีนี้ต้องได้ 3 แสนล้านเพิ่มขึ้น 50%

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ว่า ในปี 2564 แผนส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก( อีอีซี ) จะทำงานในเชิงรุกมากขึ้น โดยร่วมมือกับทั้งสำนักงานอีอีซี และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และตั้งเป้าหมายการลงทุนในปีนี้ไว้ 3 แสนล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 50% เทียบจากปี 2563

ทั้งนี้จะพบปะนักลงทุนที่ให้ความสนใจกับประเทศไทย มีการคัดเลือนักลงทุนเป้าหมาย พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการลงทุนให้มีความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีกระแสการเคลื่อนย้ายลงทุนมาในภูมิภาคนี้มากขึ้น ขณะที่ไทยมีความพร้อมต่อการรับนักลงทุน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

"สุพัฒน์พงษ์" เดินเกมรุกตั้งเป้าดึงลงทุนอีอีซี3แสนล้าน

สำหรับภาพรวมการลงทุนในอีอีซี รอบปี 2563 (ม.ค.- ธ.ค 2563) มีการลงทุนทั้งสิ้น 453 โครงการ มูลค่า 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 43% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ โดยเป็นการลงทุนจากต่างประเทศรวม 1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 55% ของมูลค่าขอรับส่งเสริมทั้งหมดใน อีอีซี โดยพบว่าประเทศญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนใน อีอีซี สูงสุด มูลค่า 50,455 ล้านบาท คิดเป็น 44% และอันดับสองเป็นนักลงทุนจากจีน มูลค่าการลงทุน 21,831 ล้านบาท ด้านความคืบหน้า โครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนใน อีอีซี ในปี 2563 จาก 453 โครงการ ได้อนุมัติคำขอแล้ว 292 โครงการ คิดเป็น 64% ออกบัตรส่งเสริมแล้ว 172 โครงการ คิดเป็น 59% และได้เริ่มโครงการแล้ว79 โครงการ คิดเป็น 46%

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC)เพื่อช่วยเกษตรกรรายได้มั่นคง ผลไม้ไทยแข่งขันได้ทั่วโลก ซึ่งเป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ อีอีซี โดยได้ลงนาม MOU การจัดทำระบบห้องเย็น เกิดความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ สกพอ. วางกลไกบริหาร ประสานเอกชน ผู้นำท้องถิ่น สหกรณ์ พร้อมพัฒนาการแปรรูป ประมูลสินค้า และการส่งออก สร้างรายได้สูงสุดตรงสู่เกษตรกร โดยปตท. ลงทุนระบบห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน ด้วยเทคโนโลยีคงคุณภาพผลไม้ให้เหมือนเก็บจากสวน ยืดอายุไม่ต้องรีบส่งขาย และ กนอ. จัดหาพื้นที่บริเวณสมาร์ทปาร์ค มาบตาพุด โดยระบบห้องเย็น จะนำร่องด้วย ทุเรียน และผลไม้อื่น ๆ ต่อยอดไปยังอาหารทะเล ที่จะช่วยรักษาความสดใหม่ ให้เกษตรกรขายได้ตลอดปี มีรายได้มั่นคง สม่ำเสมอ ผลไม้ไทยแข่งขันได้ทั่วโลก พร้อมก้าวสู่ศูนย์กลางตลาดผลไม้โลก

"สุพัฒน์พงษ์" เดินเกมรุกตั้งเป้าดึงลงทุนอีอีซี3แสนล้าน

สำหรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และในพื้นที่ อีอีซี นั้น ได้ดำเนินมาตรการเยียวยาภาครัฐไปแล้ว ครอบคลุมกว่า 1.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของวัยทำงานใน อีอีซี ส่วนมาตรการเพิ่มเติมในระยะต่อไป มีความสำคัญและจำเป็น เช่น โครงการเราชนะ และการปรับเงื่อนไขใน พ.ร.ก. soft loan จะเพิ่มความครอบคลุมการช่วยเหลือ ส่งผลดีต่อประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ อีอีซี ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาทักษะบุคลากรแบบ Demand driven (EEC model) เป็นหนึ่งในกลไกเสริมมาตรการเยียวยาภาครัฐจากผลกระทบโควิด เพื่อสนับสนุนให้แรงงานมีรายได้ ช่วยสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยังคงการจ้างงาน ซึ่งได้ดำเนินการเพิ่มเติม 3 โครงการ อีกกว่า 12,220 คน ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2565อีอีซี จัดการพัฒนาทักษะบุคคลากร รวมทั้งสิ้นได้กว่า 91,846 คน

ด้านโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้เร่งรัดส่งมอบ เปิดพื้นที่ก่อสร้าง เสร็จตามแผน ซึ่งมีความคืบหน้าต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยการรื้อย้ายสาธารณูปโภค เพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ภายในเดือนมีนาคม 2564 และการส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาซื้อขายโดย รฟท. ซึ่งจะส่งมอบพื้นที่อย่างช้าภายในเดือนก.ย. 2564