posttoday

ผุดห้องเย็นในอีอีซี ดันไทยฮับผลไม้โลก

25 มกราคม 2564

กนอ.-อีอีซี-ปตท. จับมือเดินหน้าสร้างห้องเย็นผลไม้รับโครงการ EFC ภาคตะวันออก ต่อยอดมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางเกษตร ปลดล็อคราคาสินค้าผันผวน ขายได้ตลอดปี

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดทำห้องเย็น (Blast freezer & Cold storage) ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก(Eastern Fruit Corridor: EFC)ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ว่า การเดินหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก ถือเป็นก้าวสำคัญ เสริมความแข็งแกร่ง สร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชน

ขณะที่กนอ.จะสนับสนุนการจัดหาพื้นที่ และ สกพอ. จะประสานความร่วมมือส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ให้หน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบห้องเย็น ให้บริการเก็บรักษา สินค้าคุณภาพดี สดใหม่ และรสชาติยังดีคงเดิม ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะช่วยให้ชาวสวนไม่ต้องรีบเก็บ-รีบขาย-รีบส่ง ทำให้ไม่ได้ราคา เสียคุณภาพ และเสียชื่อเสียง เมื่อโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกสำเร็จ ชาวสวนจะมีรายได้ดีมั่นคง สม่ำเสมอ รวมทั้งต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางเกษตรแข่งขันได้ทั่วโลกเสริมความเข้มแข็งให้ประเทศไทย ก้าวสู่ศูนย์กลางตลาดผลไม้โลก

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การสร้างห้องเย็นจัดเก็บผลไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) สอดรับกับนโยบายการพัฒนาทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุน การค้า บริการ การท่องเที่ยว และการเกษตร ซึ่งการจัดทำระบบห้องเย็น ใช้เทคโนโลยีในการยึดอายุการเก็บรักษาผลผลิตเกษตรให้คงคุณภาพรสชาติเดิมได้นาน แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรผันผวน การกำหนดราคาจากพ่อค้าคนกลาง รักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งลดความเสี่ยงด้านการตลาดของเกษตรกร ถือเป็นโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการฯ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า โครงการ EFC เป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่อีอีซี โดยปรับการทำธุรกิจให้เป็นไปตาม "ความต้องการของตลาด" (Demand Driven Approach) คือ การวางธุรกิจทั้งระบบจากการกำหนดสินค้าและบริการที่ตลาดต้องการ ไปกำหนดวางวิธีการค้า-การขนส่ง-การเพาะปลูก ให้สนองความต้องของตลาด โดยโครงการ EFC จึงประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญคือ1. ศึกษา ติดตาม ความต้องการของตลาด ในเรื่องนี้ สกพอ. กำลังศึกษาความต้องการตลาดต่างประเทศและในประเทศ ของ ทุเรียน มังคุด และผลไม้ของภาคตะวันออก เป็นโครงการที่อยู่ในงบประมาณปี 64 เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการ

2. การวางระบบการค้าสมัยใหม่ จะเป็นการค้าผ่าน e-commerce และ e-auction รวมทั้งการลงทุน packaging จากวัสดุธรรมชาติ ให้สามารถขนส่งทางอากาศได้สะดวก เพื่อให้ผลไม้ของภาคตะวันออกเข้าสู่ตลาดสากลได้ทันที 3. การลงทุนทำห้องเย็นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย 4. การจัดระบบสมาชิก ชาวสวนผลไม้ สหกรณ์ ที่จะเข้าร่วมโครงการ

ผุดห้องเย็นในอีอีซี ดันไทยฮับผลไม้โลก

ด้านความร่วมมือในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ฝ่ายคือ 1. ปตท. จะเป็นผู้ลงทุนจัดทำระบบห้องเย็นทันสมัยขนาด 4,000 ตัน 2.กนอ. จะเป็นผู้หาพื้นที่ โดยกำหนดว่าจะเป็นพื้นที่บริเวณ Smart Park ที่มาบตาพุด3. สำนักงานอีอีซีจะเป็นผู้วางกลไกการบริหาร และประสานผู้ที่เกี่ยวข้องมาบริหารโครงการ ซึ่งโครงการนี้จะนำร่องด้วยทุเรียน ซึ่งเป็นราชาผลไม้ของไทย รวมทั้งผลไม้อื่นๆ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่นอาหารทะเล ที่ต้องการเก็บรักษาคุณภาพสินค้าให้สดใหม่ สีสรรน่ารับประทาน และสามารถนำไปขายได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้ที่มั่นคงกับเกษตรกรไทย นอกจากนี้ จะมีการพัฒนากิจกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กิจกรรมแปรรูปการประมูลสินค้า และการส่งออก ต่อไป

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าวว่า กนอ.จะดำเนินการลงทุนพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม Smart Park เพื่อรองรับการดำเนินโครงการฯ ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่าง TOR งานก่อสร้าง เพื่อประกวดราคาและคัดเลือกผู้ผ่านเกณฑ์งานคาดขั้นตอนทั้งหมดจนได้ผู้รับเหมาก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 2564

“นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค นอกจากเป็นนิคมฯ ที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงไว้ในที่เดียวกันแล้ว ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อม รวมทั้งอาคารต่างๆ มีมาตรฐานระดับสากล และก่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในท้องถิ่น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ”

ขณะเดียวกัน ปตท.จะทำการศึกษาและพิจารณาการใช้ระบบทำความเย็นที่เหมาะสมกับผลผลิตทางการเกษตร เพื่อ รักษาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร และสร้างมูลค่าเพิ่มหรือการขายนอกฤดูกาล รวมทั้งออกแบบทางด้านเทคนิคสำหรับห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน (ในระยะที่ 1) โดยเป็นห้องเย็นในรูปแบบของ Multi-block Model และ Multi Purposes ที่สามารถรองรับทุเรียนหรือผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากห้องเย็นให้มีการกระจายขายได้ตลอดทั้งปี