posttoday

ไทยพร้อมเปิดลงทุนอุตฯหุ่นยนต์ ชู 5G จุดแข็งชิงคู่แข่ง

19 ธันวาคม 2563

ส.อ.ท.ชี้ต้องเร่งเพิ่มทักษะแรงงานรองรับหุ่นยนต์ ไทยต้องมีเทคโนโลยีของตัวเองเลิกพึ่งต่างชาติ สร้างเวทีแจ้งเกิดนักพัฒนาโปรแกรม เชื่ออุตฯหุ่นยนต์แนวโน้มเติบโตดี

รศ. ชิต เหล่าวัฒนา  ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.)  กล่าวในงานเสวนา หัวข้อ “หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม” กลไกขับเคลื่อนอนาคตใหม่เศรษฐกิจไทย ในงานสัมมนาออนไลน์ “5 New S-Curve Season 2” EP.3  หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics) จัดโดย กลุ่มบางกอกโพสต์ หอการค้าไทย และ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) TCEB ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีหุ่นยนต์ถูกพัฒนาขึ้นอยู่ในระดับเกือบสูงสุดแล้ว บทบาทของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมคงไม่ใช่แค่ทดแทนแรงงาน แต่จะเป็นส่วนสำคัญทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มต่างๆในโรงงานเพื่อให้ไปอยู่ในซัพพลายเชนที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ที่ผ่านมาไทยมีหุ่นยนต์ใช้ไม่เกิน 3,000-4,000 ตัวแต่ขณะนี้อัตราการใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้นมาเป็น 1.2 หมื่นตัว เนื่องจากขาดแรงงาน โดยเฉพาะช่วงโควิด  ซึ่งทำให้เป็นตัวเร่งในการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้มากขึ้น สังเกตได้ว่าในอุตสาหกรรมเป้าหมาย บางอุตสาหกรรมมีการลงทุนลดลงไป แต่สำหรับ หุ่นยนต์ ออโตเมชั่นกับดิจิตอลไม่ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้น ดูได้จากยอดขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี  ดังนั้นหุ่นยนต์มีความสำคัญต่อยุค 4.0 เมื่อรวมกับระบบ 5G ที่เริ่มใช้จะเข้ามาเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

ไทยพร้อมเปิดลงทุนอุตฯหุ่นยนต์ ชู 5G จุดแข็งชิงคู่แข่ง

สำหรับพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีความต้องการแรงงานที่จะรองรับหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม  30,000 คนในอนาคต  แต่หลังจากเกิดโควิด-19 ทำให้ต้องปรับเพิ่มขึ้น เป็น 50,000คน     ดังนั้นจึงต้องร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนกับสถานศึกษา เพื่อผลิตแรงงานให้ตรงกับสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ 

อย่างไรก็ตามทิศทางหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมในไทย  ให้พิจารณาจาก Sandbox ในพื้นที่อีอีซีที่เกิดขึ้นสามารถพัฒนาสนามบินอู่ตะเภามาเป็นสนามบินแห่งใหม่ ที่เชื่อมกับสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบิน  ดอนเมือง    ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ได้แก่  รถยนต์ไฟฟ้า   หุ่นยนต์  ไบโออีโคโนมี  และอุตสาหกรรมการแพทย์

ตัวเลขการยื่นขอลงทุนในช่วง 11 เดือนแรก พบว่ากลุ่มหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม มีวงเงิน 651 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นในส่วนของ Provider เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติการลงทุนด้านนี้จะมีมากกว่า

รศ.วิชิต กล่าวว่า การนำระบบ 5G มาใช้ได้ก่อน ทำให้มีโอกาสในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมได้มาก  ทั้งนี้ไทยจะต้องมีความชัดเจนระหว่างการเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีกับผู้ผลิตเทคโนโลยี และเป็นโอกาสทองของไทย ในการลงทุนหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมเพราะมีจุดเด่นในเรื่องโลจิสติกส์   สิ่งสำคัญต้องสร้างแพลตฟอร์มของคนไทยให่ได้    ไม่ใช่พึ่งพาผู้ผลิตเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ต้องสร้างทักษะในการใช้เทคโนโลยี  โดยเฉพาะการสร้างบุคคลากรรุ่นใหม่ให้สู้งานและสามารภถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เป็นควบคู่กันไปด้วย

ด้านดร.ขัติยา ไกรกาญจน์  ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า  ปัจจุบันมีหุ่นยนต์หลายประเภททั้ง หุ่นยนต์อุตสาหกรรม  หุ่นยนต์บริการ  หุ่นยนต์เกษตรอุตสาหกรรม และหุ่นยนต์ตามบ้าน  ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้  โดยกรณีหุ่นยนต์ในโรงงาน  ถูกนำไปใช้ตามประเภทงาน เช่นแขนกล  การเคลื่อนที่แนวนอนขนย้ายสิ่งของ  หรือหุ่นยนต์โมบายใช้ในร้านอาหาร ตลอดจนโดรน ในกระบวนการผลิต เพาะปลูกพืช

การพัฒนาของหุ่นยนต์ ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้เกิดความเชื่อมโยงกับผู้ใช้  ผู้ผลิตและ ผู้ให้บริการ   ดังนั้นจะต้องสร้างผู้ประกอบการที่เรียกว่า SI (Sytem Integrator Developer  )   RSP  Robotic Service Provider) ให้เป็นนิติบุคคลที่เข้มแข็ง และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยปรับโครงสร้างอากรนำเข้าชิ้นส่วนให้แข่งขันกับการนำเข้าเครื่องจักรทั้งระบบได้ สามารถประกอบหุ่นยนต์ขึ้นเองในประเทศ

ไทยพร้อมเปิดลงทุนอุตฯหุ่นยนต์ ชู 5G จุดแข็งชิงคู่แข่ง

ขณะเดียวกันต้องสร้างเวทีประกวดความสามารถในการแก้ปัญหาอุตสาหกรรม  การติดตั้ง พัฒนาโปรแกรม  รวมทั้งส่งเสริมวิจัยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ หรือการนำหุ่นยนต์ไปใช้ในรูปแบบต่างๆเช่น การพัฒนา Algorithm หรือ Man-machine  Interface    

สำหรับโอกาสของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากไทยเป็นประเทศส่งออกสินค้ากลุ่มยานยนต์  อิเล็กทรอนิกส์  อาหาร จำเป็นต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน นำระบบหุ่นยนต์ไปใช้

นอกจากนี้ต้องพัฒนาทักษะแรงงานในแต่ละด้านควบคู่กันไปเพื่อรองรับการทำงานกับระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์  รวมถึงมีการประเมินกระบวนการผลิตแต่ละโรงงาน เพื่อนำหุ่นยนต์ไปช่วยเพื่อลดความซับซ้อน ลดต้นทุนได้

ดร.ขัติยา  กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในด้านหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม ว่า ผู้ประกอบการไทยมีหลายระดับตั้งแต่ สตาร์ทอัพ ไปจนถึงออกแบบสายการผลิตที่ใช้หุ่นยนต์ร่วมกับระบบอัตโนมัติได้  แต่ยังสู้กับผู้ประกอบการต่างไม่ได้

นอกจากนี้มีผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ใช้หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติน้อยมากหรือไม่มี ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ  ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการSI  SD  จากต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำธุรกิจประเภทนี้ในไทย เช่นไต้หวัน  ญี่ปุ่น  เกาหลี  สหรัฐ สิงคโปร์   ซึ่งไทยยังไม่มีประสบการณ์พอที่จะไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต

น.ส.ปนัดดา  ก๋งม้า  ผู้อำนวยการสายงานเกษตร ปศุสัตว์และฝ่ายปฏิบัติการ  บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด   กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ร่วมกับการจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ  ขณะนี้เริ่มนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ ในการตรวจวัดอุณหภูมิ  ที่เรียกว่า หุ่นยนต์ดินสอ  ซึ่งจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นหลังเกิดโควิด-19 แต่ต้องยอมรับว่าตอนนี้ไทยยังขาดบุคคลากรที่ใช้เอไอในการสนับสนุนธุรกิจจัดงานแสดงสินค้า  สิ่งที่อยากได้คือ ถ้ามีเทคโนโลยีวีอาร์มาใช้เสมือนอยู่ในงานจริง ทดลองสินค้าได้ จะเป็นการพัฒนาที่ดีมาก  รวมทั้งการใช้หุ่นยนต์ที่ตอบคำถามได้หลายภาษาเพื่อใช้ในการช่วยเจรจาธุรกิจ

ไทยพร้อมเปิดลงทุนอุตฯหุ่นยนต์ ชู 5G จุดแข็งชิงคู่แข่ง

อย่างไรก็ตามโอกาสที่ไทยจะเป็น “ฮับ” การจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ ด้านหุ่นยนต์เพื่อการผลิต  นั้น ต้องยอมรับว่าไทยเป็น1ในอาเซียนเรื่องของการจัดงานแสดงสินค้า แต่ถ้าเป็นการนำหุ่นยนต์มาใช้ยังไม่แน่ใจ  แม้จะเป็นประเทศแรกที่นำหุ่นยนต์มาใช้ในช่วงโควิด 

ก่อนหน้านี้เจรจากับพาร์ทเนอร์เยอรมัน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปอาหารให้มาจัดงานแสดงสินค้าในไทยมาปลายปี  และได้ตอบตกลงล่าสุดที่จะจัดงานในปี 2021 ซึ่งจะทำให้เห็นโอกาสและเทรนด์ของอาหาร ในช่วงโควด มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาปรับใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

“อยากให้มองว่าการใช้หุ่นยนต์เป็นโอกาสที่ทำให้การผลิตมีเสถียรภาพ ยั่งยืน ซึ่งต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ในช่วงดิสทรัพ  หุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีมีส่วนช่วยที่ทำให้มีความสะดวกมากขึ้น”