posttoday

ต่างชาติขนเงินลงทุนอีอีซี 11 เดือนทะลุ 1.2 แสนล้าน

18 ธันวาคม 2563

บอร์ดอีอีซี หนุนใช้ 5G ดึงลงทุนต่อเนื่อง ขณะที่ช่วง 11 เดือน ยอดขอลงทุนในอีอีซียังคึกคัก กว่า 1.28 แสนล้านบาท ด้านบีโอไอ เร่งปลดล็อคกักตัวเปิดทางนักลงทุนเข้าออกสะดวก

นายคณิศ  แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอีอีซี ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยในช่วง 11 เดือนของปี2563 (ม.ค.-พ.ย.)มีนักลงทุนสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีทั้งสิ้น 387 โครงการ มูลค่าสูงถึง 1.28 แสนล้านบาท เทียบเท่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนทั้งประเทศ โดยเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ 76,000 ล้านบาท

ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และปิโตรเคมี โดยนักลงทุนที่สนใจจะลงทุน ทางบีโอไอ ได้ประสานกระทรวงต่างประเทศ ทดลองผ่อนผันการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ เพื่อความสะดวกและเป็นแรงจูงใจ ให้กับนักลงทุนในการเข้ามาลงทุนในอีอีซี พัฒนาแผนเกษตรในอีอีซี ยกระดับ ภาคการเกษตรให้มีรายได้ ใกล้เคียงภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานผลักดันการใช้ประโยชน์จาก 5G ให้เกิดการลงทุนพัฒนาระบบ 5G ในพื้นที่ อีอีซี ประกอบไปด้วย1.การสร้างผู้ใช้ 5G อย่างเป็นระบบ ผลักดันให้ผู้ประกอบการภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐใช้เทคโนโลยี 5G ในโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เขตส่งเสริมอีอีซี ประมาณ 10,000 แห่ง โรงแรมทั้งหมดในอีอีซี ประมาณ 300 แห่ง หน่วยงานราชกา สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มเอสเอ็มอี

2.เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริหารจัดการข้อมูล ผลักดันให้ภาคเอกชนและภาครัฐ จัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ ในพื้นที่ อีอีซี โดยให้ EECd เป็นจุดติดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) วางแนวทางและปรับข้อกฎหมาย นำข้อมูลคลาวด์ภาครัฐ และคลาวด์ภาคเอกชน เฉพาะข้อมูลที่เปิดเผยได้มาจัดทำข้อมูลกลางเพื่อธุรกิจในอนาคต (Common Data Lake) เพื่อให้ภาคธุรกิจ และกลุ่มสตาร์ทอัพ นำข้อมูลดังกล่าวไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจ เช่น E-Commerce การท่องเที่ยว สาธารณสุข และการแพทย์

3.พัฒนาบุคลากรดิจิทัล ผลักดันเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุนการพัฒนาคน โดยเน้นผลิตบุคลากรที่มีทักษะตามความต้องการของเอกชน (Up-Re-New) จำนวน 100,000 คน  นอกจากนี้ ได้ปรับแนวทางการดำเนินโครงการ EECd ให้เป็นกลไกหลักเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาโครงข่าย 5G ซึ่งวิธีการพัฒนาจะเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีประสบการณ์ จัดตั้งเขตนวัตกรรมดิจิทัลในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน จีน และสหภาพยุโรป โดย สกพอ. เป็นเจ้าภาพ มูลค่าการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

นอกที่ประชุม รับทราบความก้าวหน้าแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ อีอีซี โดยแผนเกษตรในอีอีซีใช้ความต้องการตลาดนำ (Demand Pull) เน้นเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร พัฒนาสินค้า ตรงความต้องการ ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ (Technology Push) ให้สินค้าเกษตร มีคุณภาพดี ราคาสูง ให้ความสำคัญ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ ผลไม้ ประมงเพาะเลี้ยง พืชชีวภาพ พืชสมุนไพร ปศุสัตว์ เพื่อยกระดับการผลิตตรงความต้องการ เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้แผนฯ เป็นกรอบในการขอรับงบประมาณปี 2565 เป้าหมายหลัก ต้องการยกระดับภาคเกษตร ใช้เทคโนโลยีนำการผลิต สินค้าตรงตามความต้องการของตลาด เพิ่มรายได้ภาคเกษตร ใกล้เคียงภาคอุตสาหกรรม