posttoday

เคาะ'วี ที แหนมเนือง' ลงทุนโรงงานผลิตพืชแห่งแรก

18 พฤศจิกายน 2563

บีโอไอ ประเดิมส่งเสริมลงทุนให้กับ วี ที แหนมเนือง 2017 มูลค่า 94 ล้านบาท หวังปั้นสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทย พร้อมอนุมัติลงทุนชุดตรวจวินิจฉัยโรคทาลัสซีเมีย ย้ำไทยศูนย์กลางการแพทย์ในภูมิภาค

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ด บีโอไอ)ได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนกับกิจการโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) โครงการแรก คือ บริษัท วี ที แหนมเนือง 2017 จำกัด มูลค่าลงทุน 94 ล้านบาท อยู่ที่จ.อุดรธานี เพื่อเพาะปลูกผักโดยใช้เมล็ดพันธุ์ในประเทศตามคำแนะนำของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีกำลังการผลิตปีละประมาณ 360 ตัน ถือเป็นโครงการแรกหลังเปิดประเภทกิจการใหม่

ทั้งนี้ บีโอไอได้เพิ่มประเภทกิจการโรงงานผลิตพืช อีกหนึ่งประเภท เพื่อยกระดับและสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคเกษตรไทยให้ก้าวสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ (สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิต ให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัย โดยโรงงานผลิตพืชของวี ที แหนมเนืองแห่งนี้ เป็นโครงการปลูกพืชผักคุณภาพ ไร้สารเคมีตกค้าง โดยปลูกในระบบปิดที่มีระบบควบคุมคุณภาพ ทั้งสภาพแวดล้อมด้านกายภาพ เช่น ความเข้มของแสง อุณหภูมิ ความชื้น และสภาพแวดล้อมทางชีวภาพ เช่น การปนเปื้อนของเชื้อโรคและแมลงจากน้ำและอากาศ ขณะเดียวกันยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อีกด้วย

นอกจากนี้ บีโอไอยังได้อนุมัติโครงการลงทุนชุดตรวจวินิจฉัยโรคทาลัสซีเมีย ของบริษัท ยีน เอ็กซ์เซลเลนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อผลิตชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ในเชิงพาณิชย์ มูลค่าลงทุน 22.53 ล้านบาท มีกำลังการผลิตชุดตรวจปีละประมาณ 50,000 ชุด ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs ด้วย ซึ่งเป็นการตอกย้ำจุดยืนของไทยในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพในภูมิภาค

รวมทั้งยังได้มีการอนุมัติโครงการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพของกิจการผลิตของเล่น ประเภทดินปั้น (Modeling Clay) โดยโครงการได้นำระบบอัตโนมัติสายพานและแขนกลมาใช้ในกระบวนการผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ เช่น การผสมวัตถุดิบเข้าด้วยกันเพื่อผสมให้เป็นดินน้ำมัน จนถึงขั้นตอนการใส่ลงบรรจุภัณฑ์และบรรจุลงกล่องเพื่อจัดเก็บในคลังสินค้า ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออกสินค้าได้มากขึ้น

“สิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบีไอไอ มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยรวมทั้งเอสเอ็มอีปรับตัวให้สอดรับกับเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งเป็นการช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทยไปสู่กระบวนการผลิตที่ทันสมัยโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจไทย” น.ส.ดวงใจ กล่าว