posttoday

คลอดเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์ นำร่องเฉพาะชีวภาพ-ชีวมวล

11 พฤศจิกายน 2563

เตรียมเสนอกพช. 16 พ.ย. นี้เคาะก่อนออกประกาศ เปิดให้ผู้สนใจยื่นโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ Feed-in Tariff ชีวมวลและชีวภาพ กำหนดจ่ายไฟฟ้าภายใน 3 ปี หลังลงนามสัญญา

นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน นำร่อง 150 เมกะวัตต์ เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพ โดยกรณีชีวมวล กำหนดปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ก๊าซชีวภาพ ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาฯ

ทั้งนี้เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้เสนอโครงการ สำหรับการแบ่งปันผลประโยชน์ อาทิ การให้หุ้นบุริมสิทธิ ร้อยละ 10 ให้กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า การให้ผลประโยชน์อื่น ๆ ให้โรงไฟฟ้าและชุมชนทำความตกลงกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา เป็นต้น

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะนำเสนอแนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน เข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 16 พ.ย.นี้ อนุมัติ โดยทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะจัดทำเงื่อนไขทั้งหมดเพื่อออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าเสนอโครงการต่อไป

นอกจากนี้กบง.ยังได้รับทราบแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ในช่วงปี 2564 – 2572 ตามรูปแบบปรับปรุงแนวทางเดิมตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2560 และให้จัดทำคำสั่งคณะทำงานพิเศษพิจารณาแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 มีหน้าที่พิจารณารูปแบบการส่งเสริมการแข่งขัน ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)นำเข้า โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติที่เหมาะสม และแนวทางต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยส่งเสริม ให้เกิดการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกันรับทราบแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2566 เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าบางปะกง พระนครใต้ และวังน้อย มีปริมาณไม่เกิน 1.9, 1.8, 1.8 ล้านตันต่อปี ตามลำดับ โดยการนำเข้าแอลเอ็นจีของ กฟผ. ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติที่ต้องการให้มี shipper หลายราย ทั้งนี้ กฟผ. จะต้องปฏิบัติตามระเบียบและข้อกำหนดของ TPA และข้อกำหนดอื่นๆ

นายสุพัฒน์พงษ์ กล่าวถึง การดูแลราคาก๊าซเอ็นจีวี ในขณะนี้ว่า กรณีรถโดยสารสาธารณะ หากราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวี ต่ำกว่า 13.62 บาท/กก. ให้ปรับราคาขายปลีก ปรับลดลงตามราคาขายปลีกเอ็นจีวีสำหรับรถทั่วไป ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. - 31 ธ.ค. 2563 โดยคาดว่าราคาเดือนพ.ย. และ ธ.ค. จะต่ำกว่า 13.62 บาท/กก. ตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ลดลง