posttoday

บางจากฯ ชี้รายได้ไตรมาส 3 สัญญาณเริ่มดี หวั่นโควิดรอบ 2 ฉุดเศรษฐกิจโลก

11 พฤศจิกายน 2563

บางจากฯ ระบุ โควิด-เศรษฐกิจโลก ฉุดรายได้ภาพรวม 9 เดือน ยังขาดทุน 7,219 ล้านบาท หวั่นโควิดรอบ2 ทุบราคาน้ำมัน-ธุรกิจโรงกลั่น ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าสีเขียวและผลิตภัณฑ์ชีวภาพ สวนกระแสแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2563 ว่า มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ตามความต้องการใช้น้ำมันเริ่มฟื้นตัว หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น แต่หากเทียบกับปีก่อน ความต้องการใช้น้ำมันลดลงอย่างมากและยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่จากโควิด-19 ขณะที่ผลดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ชีวภาพยังคงเติบโตต่อเนื่อง ช่วยลดความผันผวนของผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ

ทั้งนี้ในช่วงไตรมาส 3 บริษัทฯมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 33,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย มี EBITDA 2,769 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 145 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มี Inventory Gain 272 ล้านบาท (รวมกลับรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV) 26 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำส่งผลกระทบต่อความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการต่างๆ ของบริษัทร่วม OKEA ทำให้มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 1,003 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาสนี้มีการขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 647 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 66 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ปรับตัวลดลงร้อยละ 275 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

บางจากฯ ชี้รายได้ไตรมาส 3 สัญญาณเริ่มดี หวั่นโควิดรอบ 2 ฉุดเศรษฐกิจโลก

สำหรับภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทบางจากฯ มีรายได้ 103,317 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มี EBITDA 1,354 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 78 แต่มี Operating EBITDA 6,407 ล้านบาท โดยมี Inventory Loss 4,887 ล้านบาท (รวมขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV) 28 ล้านบาท) และมีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ 2,490 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งการด้อยค่าตามมาตรฐาน TFRS 9 จำนวน 913 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรก มีการขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 7,219ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.59 บาท

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกยังคงทรงตัวและมีความผันผวนจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป จนทำให้ต้องประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง คาดว่าจะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์การใช้น้ำมันชะลอตัวลง เป็นปัจจัยกดดันให้ค่าการกลั่นทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งกระทบกับธุรกิจโรงกลั่น

ขณะที่กลุ่มธุรกิจการตลาดมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศเริ่มฟื้นตัว จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ นอกจากนี้มาตรการด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการประกาศวันหยุดพิเศษ หรือนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษ คาดว่าจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยปริมาณการจำหน่ายในส่วนของตลาดค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านตลาดอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบหลักจากความต้องการใช้น้ำมันเครื่องบินที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ค่าการตลาดรวมสุทธิปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสัดส่วนการจำหน่ายผ่านช่องทางค้าปลีกที่มีค่าการตลาดสูงกว่าการจำหน่ายผ่านตลาดอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น ใ

ด้านกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ยังคงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมัน และค่าการกลั่น โดยจะเห็นได้จากค่าการกลั่นพื้นฐานในเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 6.19 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนเดือนก.ย.ปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.89 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ในไตรมาสนี้มีค่าการกลั่นพื้นฐาน 2.33 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยสาเหตุหลักมาจากส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซล – ดูไบ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการผลิตมากที่สุด ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้มีการบริหารจัดการต้นทุนในการผลิต โดยการจัดหาน้ำมันดิบได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดจากผู้ค้าน้ำมันที่สต๊อกน้ำมันไว้ในช่วงที่ราคาถูก อีกทั้งมีการปรับสัดส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ช่วยเพิ่มค่าการกลั่น รวมทั้งได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตมาอยู่ที่ระดับ 95,300 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 79 ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น

กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ผลการดำเนินงานเติบโตเพิ่มขึ้นจากการที่บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ได้ขยายการลงทุนในโครงการต่างๆ ทำให้มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 78 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและเพิ่มขึ้นร้อยละ 227 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักๆ มาจากการจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาว ช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วง High Season ของการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ ประกอบกับการเริ่มรับรู้รายได้จากการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยจำนวน 4 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 20 เมกกะวัตต์ โดยการลงทุนนี้ช่วยชดเชยผลกระทบจากการเข้าสู่ฤดูฝน

นอกจากนี้ ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเนื่องจากไม่มีการหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่น และมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซียที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัท BCPG ได้อนุมัติแผนการเพิ่มทุนจดทะเบียนด้วยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 1.3 พันล้านหุ้น คาดว่าจะได้เงินทุนเพิ่มราว 1.02 หมื่นล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายการลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี นอกจากนี้เงินเพิ่มทุนบางส่วนจะถูกนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมที่มีอยู่ ทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทฯ มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

“ที่ผ่านมา เราสามารถลดค่าใช้จ่ายตามมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ได้ในระดับหนึ่ง ด้วยการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การที่ยังไม่มีใครบอกได้ว่าการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกจะคลี่คลายลงเมื่อใดและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก ทำให้เราต้องตั้งตัวให้อยู่ในความพร้อมที่จะรับมือกับโลกอันผันผวนนี้ได้ตลอดเวลา พร้อมรองรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นครับ” นายชัยวัฒน์ กล่าว