posttoday

หนุนอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ บูมลงทุนกว่า 500 ล้านบาท

25 ตุลาคม 2563

“สุริยะ”เดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน มั่นใจเกิดการลงทุนเพิ่มกว่า 500 ล้านบาท

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ   รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ความสำคัญกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) และสนับสนุนในเกิดการลงทุนจากภาคธุรกิจเอกชนไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการ เหมืองแร่เตรียมจัดโครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน หรือ Green Scrap Metal Thailand 2020 เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะลดการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ลดการสร้างของเสียในภาคอุตสาหกรรม โดยนำกลับมาผลิตในรูปแบบใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูนิโด) กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ

การดำเนินโครงการดังกล่าวคาดว่าจะส่งเสริมผู้ประกอบกากลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานให้เข้าร่วมโครงการ 1,889 ราย และสนับสนุนผู้ประกอบการให้เป็นโรงงานนำร่อง 5-10 ราย ซึ่งคาดว่าจะสร้างให้เกิดมูลค่าการลงทุนของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการในการปรับปรุงเครื่องจักรและปรับปรุงกระบวนการผลิตมากกว่า 560 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility) เพื่อลดการปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานประเภทที่ปลดปล่อยไม่จงใจในกลุ่มที่เรียกว่า ยูป๊อป (U-POPs) เช่น ไดออกซิน และฟิวแรน เป็นต้น ได้ไม่น้อยกว่า 20% ซึ่งสารดังกล่าวมีพิษสูง สลายตัวยาก เกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อม และขณะเดียวกันคาดว่าจะสร้างความตระหนักแก่บุคลากรที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น 50%

สำหรับการดำเนินงานโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2566 โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก 4.5 ล้านดอลลลาร์สหรัฐฯ และเงินจากหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการอีกรวมเป็นเงิน 33.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ซึ่งกิจกรรมหลักของโครงการจะมีการทบทวนกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งส่งเสริมการใช้แนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (Best Available Technique) และแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practice) เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม