posttoday

จับตาเศรษฐกิจไทยโค้งสุดท้ายเผชิญปัจจัยเสี่ยงโควิดรอบ 2

07 ตุลาคม 2563

กกร.ห่วงเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปัจจัยลบเพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ ทั้งโควิดรอบ 2- การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ แนะรัฐออกแพคเกจกระตุ้นท่องเที่ยวแบบเร่งด่วน ขณะที่ปีนี้ยังคงจีดีพีติดลบ 7-9% ส่วนส่งออกติดลบ 8%

นายกลินทร์  สารสิน   ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน3 สถาบันได้แก่  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  สภาหอการค้าแห่งประเทศ และสมาคมธนาคารไทย   ว่า ที่ประชุมได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3  มีแนวโน้มฟื้นตัวไปพร้อมกับความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ โดยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศที่ได้รับการส่งเสริมจากมาตรการของรัฐ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ภายหลังการคลาย lockdown ทั่วโลก ซึ่งสินค้ากลุ่มอาหารและสุขอนามัยที่เป็นที่ต้องการมีการขยายตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 จะฟื้นตัวได้ต่อไป แต่ยังคงต้องการการสนับสนุนจากมาตรการของรัฐที่ต่อเนื่องและตรงจุด โดยในปี 2563 กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวติดลบ 7-9% และได้ปรับประมาณการการส่งออกให้ดีขึ้น ซึ่งคาดจะติดลบ8-10%จากเดิมติดลบ10-12% เนื่องจากการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 3 หดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบติดลบ 1-1.5%

อย่างไรก็ดีระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังต่ำกว่าปกติอยู่มาก เห็นได้จากจำนวนผู้ว่างงานที่ยังไม่ลดลง โดยช่วงไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น  จากปัจจัยต่างประเทศ ได้แก่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเร่งตัวขึ้นอีกครั้งในเดือนก.ย.  กดดันการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร รัสเซีย อินเดีย และหลายแห่งในเอเชีย ซึ่งหากลุกลามไปมากจะกระทบธุรกิจส่งออกของไทย

รวมถึงความสามารถในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศในระยะต่อไป แม้ว่าจะไม่กระทบกับการเปิดรับแบบเฉพาะกลุ่มที่กำลังจะเริ่มขึ้นก็ตาม

ส่วนปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในวงกว้างทยอยหมดอายุลง  เงินบาทอ่อนค่าจากผลของดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นในภาวะที่ตลาดกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง โดยกังวลการระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยการเมืองทั้งฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป ตลอดจนความผันผวนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ สำหรับในช่วงที่เหลือของปีค่าเงินบาทยังมีแรงหนุนแข็งค่าจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล   หากไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย หรือสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้ 

อย่างไรก็ตามกกร.ได้เสนอรัฐบาลให้ต่ออายุมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ อาทิ มาตรการชะลอการคืนเงินกู้ โดยขอให้ครอบคลุมตามความเหมาะสมของผู้ประกอบการแต่ละประเภท, การขอยืดมาตรการค่าน้ำ ค่าไฟ (รวมถึง minimum change), การลดเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบิน และเร่งรัด soft loan ของสายการบิน

รวมถึงมาตรการทางเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน สำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ รักษาการจ้างงานเดิมของสถานประกอบกิจการโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวทั่วประเทศ , ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขและแนวทางการดำเนินการของโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน  , การปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการสำหรับการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย ตามมาตรการที่รัฐบาลได้อนุมัติออกมาแล้วให้สะดวกขึ้น โดยยังคงเงื่อนไขด้านความปลอดภัย