posttoday

ตลาดอีคอมเมิร์ซ สินค้ากว่า 77% ในมาร์เก็ตเพลสมาจากจีน!

03 ตุลาคม 2563

ไพรซ์ซ่า เผยข้อมูลเชิงลึก แพล็ตฟอร์มยอดฮิตสินค้าออนไลน์ ที่คนไทยสั่งซื้อ ส่วนใหญ่แล้วเกือบ 80% มาจากจีน พร้อมแนะ How-to ให้ผู้ประกอบการไทยต้องทำอย่างไร?

จากข้อมูลของไพรซ์ซ่า (Priceza.com) แพลตฟอร์มค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์ เปิดเผยข้อมูล Insights พบว่าเมื่อปี 2018 จำนวนสินค้าใน 3 มาเก็ตเพลสชั้นนำอย่าง Lazada Shopee และ JD Central มีจำนวนสินค้ากว่า 74 ล้านชิ้น และภายใน 1 ปี มีจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า หรือกว่า 174 ล้านชิ้นในปลายปี 2019 โดย ในจำนวน 174 ล้านชิ้นเป็นสินค้าที่มาจากต่างประเทศกว่า 77% หรือกว่า 135 ล้านชิ้น

สะท้อนว่า สินค้าที่ผู้คนค้นหาเจอใน 3 แพลตฟอร์มส่วนใหญ่นั้น ล้วนมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น เกือบ 80%

3 อันดับแรกสินค้า ที่มาจากประเทศจีน

อันดับ 1 สินค้าแฟชั่น

อันดับ 2 สินค้าเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ Gadget ต่างๆ

อันดับ 3 สินค้ากีฬา

สินค้าจำนวนเยอะ-ราคาไม่แรง โดนใจผู้บริโภคไทย

ขณะที่ Marketplace ทั้ง 3 รายมีการแข่งขันที่หนักหน่วง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ต้องแข่งกัน คือ ความหลากหลายของสินค้า เจ้าไหนมีความหลากหลายของสินค้ามากกว่าก็จะทำให้แตกต่างจากเจ้าอื่น ยิ่งเอาสินค้าเข้ามาเยอะเท่าไหร่ ประกอบกับราคาที่ไม่แพงมากนัก ยิ่งทำให้ผู้บริโภคชื่นชอบ

ความเหลื่อมล้ำของพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยกับชาวจีน

สำหรับ พ่อค้าแม่ค้าชาวไทย นอกจากจะโดนตัดราคาขายจากพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัดเจนเลยคือ โครงการภาษี

ดูความเหลื่อมล้ำโครงสร้างภาษี "ผู้ขายชาวไทย"

ส่วนที่1 ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ผู้บริโภคชาวไทย เมื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ หากสินค้านั้นมีมูลค่าน้อยกว่า 1,500 บาท ผู้บริโภคไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีศุลกากรนำเข้า

นั่นหมายความว่า ทุกวันนี้สินค้าจีนที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาท มีต้นทุนถูกกว่าพ่อค้าแม่ค้าชาวไทย ในแง่ของการไม่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องจ่ายภาษีศุลกากรนำเข้า

ยกตัวอย่าง ขายเสื้อผ้าตัวละ 100 บาท ธุรกิจนั้นต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 บาทจากผู้บริโภค เพื่อนำส่งกรมสรรพากร

แต่ในขณะเดียวกันหากเสื้อผ้าตัวละ 100 บาทส่งตรงมาจากพ่อค้าแม่ค้าชาวจีน พวกเขาไม่จำเป็นต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

ดังนั้นพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยกับชาวจีน จะมีต้นทุนที่แตกต่างกัน จึงเป็นเหตุผลให้สินค้าที่มาจากต่างประเทศมีราคาที่ถูกเพราะเนื่องจากต้นทุนของเขาถูกกว่าพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยนั่นเอง

ส่วนที่2. ภาษีศุลกากรนำเข้า

ภาษีศุลกากรนำเข้าของประเทศไทยมีอัตราอากรขาเข้าอยู่ในช่วง 5 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า ธุรกิจของคนไทยที่นำเข้าสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาและมาขายต่อสู่ผู้บริโภคคนไทย ต้องเสียภาษีศุลกากรนำเข้า

แต่ผู้ค้าจากประเทศจีนส่งสินค้าหาผู้บริโภคคนไทยกลับไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรนำเข้านี้เลย

ส่วนที่3. ภาษีจากรายได้ธุรกิจชาวจีนที่ไม่ได้จดทะเบียนบริษัทในประเทศไทย

เมื่อประกอบกิจการจนสามารถทำกำไรได้ พวกเขาไม่ต้องจ่ายภาษีอะไรเลยให้กับประเทศไทย แตกต่างจากธุรกิจของคนไทย เมื่อทำกำไรได้ก็ต้องจ่ายภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้น

ผู้ประกอบการไทยควรทำอย่างไร

ยังพอมีโอกาสแข่งขันได้หรือไม่? สินค้าที่มาจากประเทศจีนมีราคาที่ไม่แพงมากนัก หากสู้เรื่องราคาไม่ได้อาจต้องเปลี่ยนมาที่บริการหลังการขายแทน เพราะ ผู้บริโภคบางกลุ่มไม่ได้สนใจว่าสินค้านั้นจะราคาถูกแค่ไหน แต่สนใจในด้านการบริการมากกว่า

อาทิ หากต้องการซื้อปลั๊กไฟ ผู้ขายก็ต้องใส่ใจด้านบริการหลังการขาย สินค้ามีใบรับรองความปลอดภัย สินค้าผลิตประเทศไหน มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือไม่ ถึงแม้ราคาจะแพงกว่า แต่ทำให้เกิดความสบายใจว่าใช้แล้วปลอดภัยแน่นอน

ในด้านบริการ การสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะสามารถทำให้คุณเอาชนะคู่แข่งได้ เช่น 1. ด้านการขนส่ง มีบริการส่งฟรี รวดเร็วภายในกี่ชั่วโมง2. พื้นที่บริการครอบคลุมความต้องการหรือไม่3. รับประกันสินค้า มีบริการหลังการขาย แชทพูดคุย ตอบคำถามจากลูกค้าได้ทันท่วงที4. ช่องทางการชำระเงินหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภค

ถ้าวันนี้ ต้องแข่งกับสินค้าจีนที่มีสินค้าเป็นร้อยล้านชิ้น ผู้ประกอบการไทยไม่ถือว่าเสียเปรียบหรือเสียโอกาสไปเสียทีเดียว เพียงแต่ต้องคำนึงถึงเอกลักษณ์สินค้า ว่ามีความแตกต่างจากสินค้าอื่นอย่างไร มีการบริการหลังการขาย เพื่อสร้างความประทับใจอย่างไร และมีตัวเลือกช่องทางการขายที่ครอบคลุมหรือไม่

สิ่งเหล่านี้คือวิธีการที่จะทำให้ "ผู้ขายไทย" ต่อสู้กับพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนได้