posttoday

ชงสินค้า Made in Thailand วาระแห่งชาติ ช่วยผู้ประกอบการพ้นวิกฤตโควิด

20 กันยายน 2563

“สุพันธุ์” ลุ้นศบศ.ไฟเขียวข้อเสนอภาคเอกชน ดันสินค้า Made in Thailand เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมบรรเทาผลกระทบจากโควิด ชงยืดหนี้-ต่อสิทธิประโยชน์บีโอไออีก 2 ปี หลังต้องชะลอลงทุน

นายสุพันธุ์   มงคลสุธี   ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)  เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้จัดทำข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐในการช่วยลดผลกระทบจากโควิด-19 ไปยังคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขาแล้ว โดยคาดว่าจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากากรระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา(โควิด-19) หรือ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในสัปดาห์หน้า

สำหรับสาระสำคัญของข้อเสนอ ประกอบไปด้วย 1.สนับสนุนสินค้า Made in Thailand  เป็นวาระแห่งชาติ 2.ยืดการชำระเงินกู้ออกไปอีก2ปี (2564-2565) โดยพักชำระเงินต้นจนถึงเดือนธ.ค. 2565 สำหรับชำระดอกเบี้ยให้จ่ายเพียงบางส่วน โดยในช่วง 6 เดือนแรก (พ.ย.2563-เม.ย.2564)ชำระ 10% ของดอกเบี้ยรายเดือนที่เกิดขึ้น 

3.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ เอสเอ็มอี ปีภาษี 2563-2565  โดยจะต้องเข้าระบบ E-Filling 4.การกระตุ้นและช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาคต มอก.การขอใบอนุญาตโรงงาน ,ค่าใช้จ่ายในการตรวจรับและรับรองมาตรฐาน,ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือเพื่อการวิจัยและพัฒนา และการซื้อสินค้าฉลากเขียว มาหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายดังกล่าว และค่าใช้จ่ายในส่วนที่เหลือสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า เป็นระยะเวฃา 1 ปี 

5.ยกเว้นค่าปรับร้อยละ20 ของภาษีที่ขาดการยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ที่ประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 คลาดเคลื่อนเกินร้อยละ 25 เนื่องจากผลกระทบโควิด-19    6.สามารหักค่าใช่จ่ายภาษีนิติบุคคลได้ 2 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจาการอบรมหรือ Outing ของบริษืท เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ

7.ขยายเวลาผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ออกไปอีก 2 ปี โดยยังคงให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินลงทุนเดิมไว้  เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19  

8.ขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยร้อยละ 62  จนถึงวันที่ 31ธ.ค. 2563  และ9.ลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือร้อยละ  0.01 เฉพาะปี 2563  เพื่อลดค่าใช้จ่ายภาคธุรกิจในการขอเงินกู้ โดยได้ในวงเงินไม่เกิน  50 ล้านบาท