posttoday

‘พาณิชย์’ ชี้ช่องหนุนส้มแขกแปรรูป ใช้ FTA ขยายส่งออก

06 กันยายน 2563

“วีรศักดิ์” พร้อมผลักดัน ส้มแขกแปรรูป เร่งยกระดับมาตรฐานการผลิต แนะใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

นายวีรศักดิ์   หวังศุภกิจโกศล  รมช.กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลัง ร่วมกับ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงพื้นที่เยี่ยมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา อ.กะทู้  จ.ภูเก็ต เพื่อดูศักยภาพการผลิตและแปรรูปส้มแขก (ส้มควาย) และได้ใช้โอกาสนี้ แลกเปลี่ยนข้อมูลกับเกษตรกรและผู้ประกอบการ พร้อมทั้งแนะนำให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ เป็นเครื่องมือช่วยในการส่งออกสินค้า และการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือจดสิทธิบัตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ส้มแขกเป็นสมุนไพรที่นิยมปลูกทางใต้ของไทยโดยเฉพาะจ.ภูเก็ต มีสรรพคุณช่วยลดคอเลสเตอรอลและลดความอยากรับประทานอาหาร จึงนิยมนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อลดน้ำหนัก โดยเฉพาะส้มแขกบดผงถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการลดความอ้วน การแปรรูปส้มแขก เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ถือเป็นต้นแบบที่ดีในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในท้องถิ่น โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปจากส้มแขกสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดคนรักสุขภาพทั้งในและต่างประเทศ ถือเป็นตลาดเฉพาะ หรือ niche market ที่มีกำลังซื้อสูง มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

ปัจจุบันสินค้าสมุนไพร และสารสกัดจากสมุนไพรของไทยได้รับการยกเว้นไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศคู่เอฟทีเอ 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรูและฮ่องกง แต่มี 2 ประเทศที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสมุนไพรจากไทยในบางรายการ คือ เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้าโสมและสารสกัดจากโสม ที่อัตราระหว่าง 178.2-603.4% และอินเดีย เก็บภาษีนำเข้าสมุนไพรที่อัตรา 30%

สำหรับมูลค่าการส่งออกสมุนไพรของไทย ในปี 2562 มีมูลค่า 11.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.9% จากปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น มูลค่า 3.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จีน มูลค่า 3.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาเซียน มูลค่า 0.90  ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ไทยส่งออกสมุนไพร มูลค่า 10.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 58.38% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งตลาดที่มีการเติบโตสูงสุด ได้แก่ เวียดนาม ขยายตัว 388.23% จีน ขยายตัว 109.78% และบังคลาเทศ ขยายตัว 69.36%

ทั้งนี้ ผู้สนใจส่งออกต้องศึกษากฎระเบียบของไทยและประเทศผู้นำเข้าก่อน เพราะสมุนไพรส่วนใหญ่จะต้องมีการขออนุญาตผลิต ขาย และวางตลาด รวมทั้งต้องดูแลเรื่องฉลากสินค้า การตรวจสอบสุขอนามัยและความปลอดภัย