posttoday

“โออิชิ” ร่วมแพล็ตฟอร์ม "คลาวด์ คิทเช่น" ขยายช่องเดลิเวอรี

20 สิงหาคม 2563

โออิชิ เปิด “โออิชิ คิทเช่น” รวมอาหารญี่ปุ่น 100 จานเด็ด 4 ร้านดัง ส่งตรงถึงบ้าน รับเทรนด์ผู้บริโภค ลดทานอาหารนอกบ้าน ฟู้ด เดลิเวอรี 4.1 หมื่นล้าน โตแรง

นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI เปิดเผยว่า คลาวด์ คิทเช่น หรือ โกสต์ คิทเช่น เป็นรูปแบบ (โมเดล) ธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมและมาแรงมาก ๆ ในแวดวงธุรกิจอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

จากปัจจัย ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) พบว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง (หรือไม่รับประทานอาหารนอกบ้านเลย) แต่สั่งอาหารออนไลน์และใช้บริการฟู้ด เดลิเวอรี่ มากขึ้น

นอกจากเทรนด์ดังกล่าวแล้ว ยังมีโอกาสทางการตลาดที่เปิดกว้าง โออิชิ จึงต่อยอดการให้บริการ และพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ คลาวด์ คิทเช่น ภายใต้ชื่อ “โออิชิ คิทเช่น” (OISHI KITCHEN) เพื่อเป็นฮับหรือครัวกลาง – ศูนย์กลางการปรุงประกอบอาหารสะอาด ปลอดภัย สำหรับร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิ (โออิชิ บุฟเฟต์, โออิชิ ราเมน, คาคาชิ, และ โออิชิ เดลิเวอรี่) เป็นแหล่งรวมความหลากหลายของอาหารญี่ปุ่น และอาหารเพื่อสุขภาพ

โดยเน้นทำการขายผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง แอปพลิเคชัน ฟู้ด เดลิเวอรี่ เป็นหลัก ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกสั่งเมนูอาหารจากร้านต่าง ๆ ได้มากกว่า 1 ร้าน แบบรวมออเดอร์ได้ด้วยการสั่งเพียงครั้งเดียว

โดย “โออิชิ คิทเช่น” (OISHI KITCHEN) พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์นักกิน และคนรักอาหารญี่ปุ่น จากความหลากหลายของเมนูอาหาร ผสานรสชาติที่โดดเด่น จัดเต็มให้เลือกทั้งอาหารญี่ปุ่นนานาชนิด ซึ่งคัดสรรจากแบรนด์/ร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิ ได้แก่ 1. โออิชิ บุฟเฟต์ 2. โออิชิ ราเมน 3. คาคาชิ และ 4. โออิชิ เดลิเวอรี่ รวมกว่า 100 รายการ

สำหรับ “โออิชิ คิทเช่น” สาขาแรก ตั้งบนย่านถนนพระราม 4 ณ บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า พระราม 4 (ในพื้นที่ครัวของ โออิชิ บุฟเฟต์) ซึ่งถือว่าเป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่รายล้อมไปด้วยอาคารสำนักงานสำคัญ ๆ สถานศึกษา และที่อยู่อาศัย

พร้อมตั้งเป้าขยายพื้นที่ให้บริการและสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นในเขตกรุงเทพฯ และแหล่งชุมชน เพิ่มเติมอีก 5 - 10 สาขา ภายในปี 2564

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลวิเคราะห์ธุรกิจ On-Demand ประเภทที่ขยายตัว ได้แก่ บริการ Food Delivery คาดว่ามูลค่าตลาดในปี 2563 จะอยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากภาวะปกติ