posttoday

ทอท.หวั่นเสี่ยงขาดทุนปีหน้า ล็อคเมืองหนีโควิดผู้โดยสารหาย 70%

30 กรกฎาคม 2563

ทอท.เตรียมแผนสำรองหวั่นโควิดกระทบยาว ผู้โดยสารวูบ 70% เสี่ยงขาดทุนปีหน้า เดินหน้าดัน 4 กลุ่มธุรกิจต่อยอดรายได้

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)หรือ ทอท. เปิดเผยว่า  วิกฤติโควิด-19 ส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการบิน ทั้งด้านผู้ประกอบการเที่ยวบินต้นทุนต่ำ  ขณะที่เกิดสภาวะพนักงานล้นเกินความต้องการ (Over Employment) ต้องพยายามรักษาอัตราจ้างงานไว้ โดยสายการบินแห่งชาติอยู่ระหว่างพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ

ด้านทอท.ประสบกับปัญหาตัวเลขผู้โดยสารลดลงมากจนถึงจุดต่ำสุดและคาดว่าจะใช้เวลาฟื้นกลับมาเป็นปกติในเดือนต.ค. 2565 หรืออีกกว่า 2 ปีนับจากนี้ โดยเฉพาะช่วงที่ยังไม่เปิดประเทศผู้โดยสารรวมของ ทอท.จะเหลือยอดอยู่เพียง 25% จากยอดผู้โดยสารปกติ เนื่องจากเที่ยวบินระหว่างประเทศหายไปทั้งหมดและเที่ยวบินภายในประเทศชาวต่างชาติที่เป็นสัดส่วน 50% ไม่มีการเดินทาง

ทั้งนี้ตัวเลขผู้โดยสารล่าสุดวันที่ 29  ก.ค. มีจำนวนเพียง 5.2 หมื่นคน/วัน จากช่วงปกติมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 1.4 แสนคน แบ่งเป็น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เหลือ  1.5 หมื่นคน จากเดิม 1.87 แสนคน/วัน ลดลง 91.6%

ท่าอากาศยานดอนเมือง เหลือ 4 หมื่นคน/วัน จากเดิม 1.14 แสนคน/วัน ลดลง 65% ขณะที่ท่าอากาศยานภูเก็ตลดลง 84% ท่าอากาศยานหาดใหญ่ลดลง 35% และท่าอากาศเชียงรายลดลง 40%

อย่างไรก็ตามทอท.คาดการณ์ผู้โดยสารตลอดปี 2563 จะลดลง 72% เหลือ 38.81 ล้านคน เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมียอดผู้โดยสาร 141 ล้านคน ขณะที่ปี 2564 ตัวเลขผู้โดยสารจะเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งอยู่ที่ 55 ล้านคน ส่วนปี 2565 ตัวเลขผู้โดยสารจะเติบโตต่อเนื่องที่ 132% ยอดรวมทั้งปี 128 ล้านคน จากนั้นปี 2566 ตัวเลขผู้โดยสารจะกลับมาเติบโตกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดอีกครั้งที่ 150 ล้านคน ส่งผลให้ ทอท.ต้องเดินหน้าลงทุนพัฒนาสนามบินต่อเนื่องและยืนยันว่าจะไม่หยุดลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมรับยุครุ่งเรืองของตลาดการท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง

“ตลาดการบินจะยังคงมืดมิดและคาดการณ์ไม่ได้จนกว่าจะมีวัคซีนรักษาโควิด-19 ถือเป็นอุปสรรคของ ทอท.ซึ่งต้องแบกรับต้นทุนไปพร้อมกับลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2563-2564 มีความเสี่ยงที่จะเจอปัญหาสภาพคล่อง จนต้องเตรียมแผนสำรองเพื่อรับมือ แต่ทุกอย่างนี้ต้องอยู่บนเงื่อนไขว่าจะไม่มีโควิดระลอกที่ 2” นายนิตินัยกล่าว

นายนิตินัย กล่าวว่า ปี 2563 ทอท.ยังไม่ขาดทุน เนื่องจากตุนเงินทุนสะสมไว้แล้วจากช่วงพีคของการท่องเที่ยวช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ดังนั้นปัญหาสภาพคล่องและสภาวะขาดทุนของ ทอท.อาจเกิดขึ้นในปี 2564 ซึ่งถือเป็นอีกปีที่ตัวเลขผู้โดยสารตกต่ำมาก แม้ปัจุบันจะมีเงินสดในมือ 50,000 ล้านบาท แต่ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะไม่เพียงพอในปี 2564 จากงบเบิกจ่ายและลงทุนต่อเนื่อง

ทอท.หวั่นเสี่ยงขาดทุนปีหน้า ล็อคเมืองหนีโควิดผู้โดยสารหาย 70%

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ ต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง หากมีความจำเป็นต้องกู้  สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ คือ 1.กู้สถาบันการเงิน 2.ออกหุ้นกู้(บอนด์) เพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยสมมติฐานทั้งหมดอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าไม่มีการแพร่ระบาดโควิด ระลอกที่ 2

สำหรับแผนการเพิ่มรายได้ในช่วงวิกฤติการบินปี 2563-2564 นั้น ทอท.ได้ต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ใหม่ 4 ด้าน โดยทุกกลุ่มธุรกิจจะเริ่มทำเงินในปี 2564 ประกอบด้วย 1.ศูนย์รับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (Certify Hub) จดทะเบียนบริษัทแล้วเสร็จเดือนส.ค.นี้ ก่อนเปิดบริการเต็มรูปแบบในเดือนธ.ค.ปลายปีนี้

2.เมืองการบินสุวรรณภูมิ (Airport City) ขณะนี้แปลงสีผังเมืองเสร็จแล้ว เปิดให้เอกชนเริ่มลงทุนในเดือน ก.ย.-ต.ค. ควบคู่ไปกับการขยายสัญญาสัมปทานที่ดินแปลงบี 723 ไร่ ให้หมดอายุในปี 2595 จากเดิมปี 2575 เพื่อจูงใจนักลงทุน

3.บริษัทลูก ทอท. ขณะนี้เริ่มให้บริการด้านภาคพื้นแล้วที่สนามบินดอนเมืองและจะขยายไปสนามบินภูเก็ตเร็วๆนี้ 4.แอพพลิเคชั่น AOT Airports พบว่าได้รับความนิยมอย่างมากมีผู้ดาวน์โหลดถึง 500,000 ครั้ง สูงกว่าสนามบินชั้นนำในต่างประเทศขึ่งมียอดดาวน์โหลดเพียง 200,000 ครั้ง