posttoday

สหรัฐฯ ยุติสิทธิพิเศษกับฮ่องกง ... ชนวนกระตุ้นสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

17 กรกฎาคม 2563

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินชนวนกระตุ้นสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน จะกลับมาร้อนแรงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หวั่งทำการค้าไทยเสียประโยชน์อีกระลอก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุดที่สหรัฐฯ ยุติสิทธิพิเศษกับฮ่องกงเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เป็นอีกชนวนกระตุ้นสงครามการค้ากับจีนให้กลับมาร้อนแรงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปีนี้สหรัฐฯ ยังคงนำประเด็นอ่อนไหวของจีน มาใช้เป็นเครื่องมือกดดันจีนผ่านความตกลงทางการค้าเฟส 1 (Phase 1) ประกอบกับเงื่อนเวลาการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามายิ่งทำให้ทุกเรื่องผูกโยงกันอย่างซับซ้อน ทำให้สงครามการค้าครั้งนี้คงจะยืดเยื้อและไม่น่าจะเกิดความตกลงในเฟส 2 (Phase 2) ได้ ถึงแม้การเลือกตั้งสหรัฐฯ จะได้บทสรุปเป็นผู้นำคนใหม่

แต่การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในด้านภูมิรัฐศาสตร์จะคงมีอยู่ต่อไป และคงไม่ทำให้สงครามการค้าสงบได้อย่างมีนัยสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินได้ว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่สงครามการค้าปะทุขึ้นทำให้การค้าของไทยในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องเสียประโยชน์สุทธิ 1.1 พันล้านดอลลาร์ฯ แม้ว่าสินค้าไทยส่วนหนึ่งจะได้อานิสงส์จากการส่งไปแทนที่สินค้าของคู่กรณีทั้งทางตรงและทางอ้อมแต่ก็ไม่มากพอที่จะชดเชยผลกระทบหลักๆ ที่ทำให้การส่งออกสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่ของจีนปรับตัวลดลง รวมกับการที่ไทยต้องสูญเสียพื้นที่ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านไปจากการเข้ามาของสินค้าจีน

ผลจากสงครามการค้าเริ่มเบาบางลงตั้งแต่เกิดความตกลงในเฟส 1 เมื่อต้นปี 2563 แต่การเกิด COVID-19 กลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาความเสี่ยงของการแพร่ระลอก 2 ในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและกดดันการค้าโลกในช่วงที่เหลือของปีอย่างมีนัยสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐฯ ในปี 2563 ที่กำลังเผชิญการแพร่ระบาดอย่างหนักจะยังหดตัวร้อยละ 2.7 มีมูลค่าการส่งออกราว 30,500 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่การส่งออกของไทยไปจีนแม้ได้แรงส่งจากกำลังซื้อที่กลับมาได้ก่อนประเทศอื่นแต่ภาคการผลิตที่พึ่งพาทั้งตลาดจีนและตลาดต่างประเทศก็ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนขยายตัวอย่างจำกัดที่ร้อยละ 3.2 มีมูลค่าการส่งออกที่ 30,100 ล้านดอลลาร์ฯ