posttoday

โควิดฉุดการใช้พลังงานทั่วโลกต่ำสุดรอบ 70 ปี ไทยเล็งรื้อแผนพีดีพีใหม่

14 กรกฎาคม 2563

กระทรวงพลังงานเกาะติดสถานการณ์โควิดต่อเนื่อง หลังการใช้ไฟฟ้า-น้ำมัน-ก๊าซ ลด เตรียมทบทวนแผนพีดีพีใหม่ หวั่นสำรองไฟฟ้าพุ่ง กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้า

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนา "ทิศทางพลังงานประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด" จัดโดย คณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การใช้พลังงานทั่วโลกลดลงมากที่สุดในรอบ 70 ปี แม้ว่าราคาน้ำมันและปริมาณความต้องการใช้ล่าสุดจะเริ่มขยับขึ้นจากการคลายล็อกดาวน์ในหลายประเทศ แต่ความเสี่ยงของการระบาดรอบใหม่ก็มีการคาดการณ์ว่า การใช้น้ำมันจะยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติได้ในปีนี้

สำหรับไทยการใช้พลังงานปรับลดลงมากเช่นกัน โดยช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) การใช้น้ำมันลดลง 13.4% ขณะที่การไฟฟ้าลดลง 3.8% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยพบว่าช่วงหลังคลายล็อกดาวน์ความต้องการใช้พลังงานเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่หากมีการระบาดรอบ 2 จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นในจ.ระยอง ข้อมูลเหล่านี้จะต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อปรับแผนพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี ฉบับใหม่ (แผนพีดีพี 2021) รวมถึงแผนพลังงานหลักของประเทศ ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส แรกของปี 2564

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาภาคพลังงานได้เข้าไปมีส่วนในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศผ่านการลดรายจ่าย เร่งรัดการลงทุน โดยตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย. ที่ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนผ่านการลดค่าไฟฟ้าภาคครัว และภาคธุรกิจ ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม รวมทั้งขอความร่วมมือ ปตท. อุดหนุนส่วนต่างราคาเอ็นจีวี และส่งมอบแอลกอฮอล์ รพ.สต. ทั่วประเทศ ตลอดจนเร่งการลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ด้านนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ และโฆษก กฟผ. กล่าวว่า การใช้ไฟฟ้าที่ลดลงส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 35-40% ขณะที่ตัวเลขการเฉลี่ยต่อหน่วยไฟฟ้าก็ลดลง ทำให้ต้นทุนค่าไฟต่อหน่วยเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงพลังงานส่งเสริมให้มีการส่งออกไฟฟ้าไปประเทศเพื่อนบ้าน การสนับสนุนพลังงานทดทน สำหรบกฟผ.จะมีการลงทุนสายส่งรองรับส่วนนี้ประมาณ 1.2 แสนล้านบาทในระยะ 5 ปีข้างหน้า รวมถึงส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าชุมชนและส่งเสริมห้องเย็นเก็บผลไม้ ด้วยการให้อัตราค่าไฟฟ้าพิเศษ

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. กล่าวว่า ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในช่วงล็อกดาวน์ประเทศได้ปรับลดลงไป 7-8 % ซึ่งในปีนี้ ปตท.เตรียมนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ตลาดจร ไว้ 11 ลำ คาดว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าจะลดลงกว่า 3,000 ล้านบาท หรือ 1.50 สตางค์(ส.ต.)ต่อหน่วย โดยปัจจุบันได้นำเข้ามาแล้ว 7 ลำ ซึ่ง 5 ลำแรก ราคาก๊าซฯเฉลี่ยอยู่ที่ 2.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู และมีราคาต่ำสุดที่ 1.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงกว่า 2,000 ล้านบาท หรือ 1.04 สต.ต่อหน่วย