posttoday

คลอด 3 มาตรการการันตีช่วย ‘กะทิไทย’ รีเช็คแหล่งที่มาปลอดแรงงานลิง

09 กรกฎาคม 2563

'พาณิชย์’ ยืนยันแบนกะทิในห้างอังกฤษเป็นเรื่องของเอกชน ปัดกีดกันทางการค้า สั่งเพิ่มมาตรการสอบย้อนต้นทางกะทิไทย เทียบเชิญฑูตดูกระบวนการผลิต พร้อมกำชับทีมไทยแลนด์เร่งชี้แจงต่างชาติ

นายจุรินทร์   ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เรื่องผลกระทบส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าว กรณีองค์กรพิทักษ์ สัตว์ หรือ พีต้า (PETA) ออกมาระบุไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทารุณสัตว์ว่า ที่ประชุมได้สรุปแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้ 3 ประการคือ 1. กำหนดมาตรการที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ชัดเจน ว่าผลิตภัณฑ์กล่องหรือบรรจุภัณฑ์ผลิตจากมะพร้าว มีที่มาจากสวนไหน มีการใช้แรงงานลิงหรือไม่ โดยใส่รหัสลงบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดลงไปเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

2. เชิญตัวแทนเอกอัครราชฑูตของประเทศต่างๆที่ประจำอยู่ไทย  รวมทั้งสื่อมวลชนและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพิทักษ์สัตว์เข้าร่วมตรวจสอบกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำ จากสวนไปถึงปลายน้ำ และเมื่อสถานการณ์โควิดหมดไปสามารถเชิญผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า และตัวแทนห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ รวมทั้งในส่วนอื่นๆ เดินทางเข้ามาได้ก็จะได้กันในการต่อไปอีกขั้นตอนหนึ่ง

3. ขอให้ทีมไทยแลนด์ที่ประจำอยู่ต่างประเทศได้ช่วยกันทำคำชี้แจงและนัดพบผู้นำเข้าห้างสรรพสินค้าต่างๆที่เป็นลูกค้าผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของประเทศไทยทำความเข้าใจต่อไป

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย มีผลผลิตในปี2562 ประมาณ  7.88 แสนตันและมีโรงงานแปรรูปผลผลิตจากมะพร้าว 15 แห่ง  โดยทั้งหมดเป็นกะทิ 1.13 แสนตัน  ซึ่งสัดส่วน 70 % เป็นการบริโภคภายในประเทศ ที่เหลือส่งออก  และมีความจำเป็นต้องนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากไม่เพียงพอการส่งออก

ทั้งนี้มีการส่งออกผลิตภัณฑ์กะทิในปีที่ผ่านมา มีมูลค่า 12,300 ล้านบาท   โดยส่งออกไปยังสหภาพยุโรป 18 % คิดเป็นมูลค่า 2,250 ล้านบาทและในสหภาพยุโรป  ซึ่งเฉพาะอังกฤษมีสัดส่วน 8%  มูลค่า 1,000 ล้านบาท เป็นต้น

“การหารือครั้งนี้เนื่องจากผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย เช่น ชาวเกาะ อร่อยดี เป็นต้น ได้ถูกนำออกจากชั้นวางในห้างสรรพสินค้าบางแห่งในประเทศอังกฤษ สันนิษฐานว่าเกิดความกังวลในเรื่องที่คิดว่า 2 บริษัทนี้ รับซื้อมะพร้าวจากสวนที่ใช้แรงงานลิง และเกรงว่าถ้าไม่มีการดำเนินการใดๆอาจมีผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่นๆหรือห้างสรรพสินค้าอื่นๆ จึงได้ออกมาตรการเพื่อดำเนินการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น”นายจุรินทร์ กล่าว

ด้านนายเกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร  กรรมการบริหารบริษัทเทพผดุงพรมะพร้าวจำกัด (กะทิชาวเกาะ)กล่าวว่า ห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง  เริ่มทยอยเอาสินค้าลงจากชั้นวาง และบางห้างเริ่มควบคุมสินค้า ซึ่งจะกระทบ ทั้งในอังกฤษ และโซนยุโรป แต่ละบริษัทเริ่มมีการสอบถาม  รวมถึงสหรัฐและออสเตรเลีย  สำหรับตัวเลขความเสียหายนั้นยังไม่ทราบชัดเจน และในภาคอุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกมีการทำ MOU กับผู้ส่งวัตถุดิบทุกรายว่าไม่รับซื้อมะพร้าวที่ใช้ลิงเก็บ

น.ส.ศศิวรรณ นวลศรี ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดอาวุโส (ยี่ห้ออร่อยดี) บริษัทไทย อกริ ฟู๊ด จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  โรงงานผลิตกระทิต่างๆในไทยที่มีอยู่ 15 แห่ง  โดยใน 9 รายใหญ่ที่มีสัดส่วนผลิตมากกว่า 80-90%  ยืนยันใช้แรงงานคนในกระบวนการผลิตทั้งสิ้น ส่วนที่เหลือแม้จะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนแต่ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนมากกว่าแรงงานลิงอย่างแน่นอน

นายบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของภาคเอกชน ไม่ใช่มาตรการตอบโต้ทางการค้าจากภาครัฐในต่างประเทศ

นายธีรวุฒิ สุวัธนะเชาว์ ผู้อำนวยการ กองการสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์  กล่าวว่า  ในเรื่องของการใช้ลิงนั้น ประเทศไทย มีพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมพ.ศ. 2557 มีมาตรการรับข้อร้องทุกข์กล่าวโทษอยู่แล้ว และในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้ลิงเกี่ยวกับความทรมาน  มีแต่เฉพาะการทำร้ายในธรรมชาติซึ่งก็ถูกดำเนินคดี ถ้ามีการร้องเรียนหรือร้องทุกข์ขึ้นมากรมก็จะส่งข่าวเจ้าหน้าที่เข้าไปสอบสวนทันที