posttoday

กนอ.จัดโปรฯดึงต่างชาติลงทุนนิคมฯเพิ่ม หลังคลายล็อคดาวน์

07 กรกฎาคม 2563

ยอดขายพื้นที่นิคมฯ 3 ไตรมาสวูบ 3.86% ต่างชาติหนีโควิดชะลอลงทุน เล็งกระตุ้นการลงทุนออกแพคเกจจูงใจ หวังผลเทรดวอร์ย้ายฐานผลิตมาไทยเพิ่มขึ้น

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.62 - มิ.ย.63) กนอ.มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 1,696.92 ไร่ ลดลง 3.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้นักลงทุนไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่และติดต่อธุรกิจเพื่อประกอบการตัดสินใจจอง/ชื้อ/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานและนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินการเองได้

ขณะเดียวกันคาดหวังอานิสงส์จากสงครามการค้า (เทรดวอร์) สหรัฐ-จีน ทำให้นักลงทุนบางส่วนย้ายฐานการผลิตมาไทย เฉพาะกลุ่มยานยนต์-ขนส่ง เหล็ก-ผลิตภัณฑ์โลหะมากสุด โดยนักลงทุนจากญี่ปุ่นครองแชมป์มาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งกนอ.เตรียมจัดแพคเก็จจูงใจดึงการลงทุนเพิ่มช่วงไตรมาส 4

ทั้งนี้ยอดขายพื้นที่ในช่วง 3 ไตรมาส เป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวน 1,598.95 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี จำนวน 97.97 ไร่ มีการแจ้งเริ่มกิจการใหม่ 114 โรงงาน เกิดการจ้างงานเพิ่ม 12,019 คน ซึ่งไทยถือว่ายังได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้นักลงทุนบางส่วนจากจีนและไต้หวันย้ายฐานการผลิตมายังไทย โดยส่วนใหญ่จะทำสัญญาจองเช่าไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว

นอกจากนี้ ผลจากการจัดอันดับของ U.S.News & World Report ที่ระบุว่า ประเทศไทย ติดอันดับ 1 ของโลกประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจจากทั้งหมด 73 ประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นว่านิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ซึ่งจากการตรวจสอบใบอนุญาตใช้ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมแล้วพบว่าช่วงต้นปี 2563 นักลงทุนทยอยมายื่นขออนุญาตการใช้ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเป็นผลให้มีการจ้างงานในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดีแม้สถานการณ์โควิด-19 จะกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งไทย แต่กระบวนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไม่ได้หยุดไปด้วย โดยช่วงต้นปี 2563 มีการลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานแล้วจำนวน 4 แห่ง และประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรมในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1. นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 6 อำเภอปลวกแดง อำเภอบ้านค่าย และอำเภอนิคมพัฒนา จ.ระยอง พื้นที่ประมาณ 1,322.40 ไร่ มูลค่าการลงทุนโครงการ ประมาณ 2,625.78 ล้านบาท

และ2.นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ อำเภอไชโย จ.อ่างทอง พื้นที่ประมาณ 1,398.04 ไร่ มูลค่าการลงทุน ประมาณ 4,237.17 ล้านบาท และมีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรม อีก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) พื้นที่ประมาณ 902.59 ไร่ มูลค่าการลงทุน 2,100 ล้านบาท และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย คลีน อินดัสเตรียล ปาร์ค พื้นที่ ประมาณ 1,319.89 ไร่ มูลค่าการลงทุน 2,447.75 ล้านบาท

ปัจจุบันมีพื้นที่นิคมฯสะสม 177,261 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่นิคมฯดำเนินการเอง 39,332 ไร่ และเป็นนิคมฯร่วมดำเนินงาน 137,929 ไร่ เป็นพื้นที่ขายและให้เช่า 114,852 ไร่ /เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่าแล้ว 92,019 ไร่ ยังคงมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีกประมาณ 22,833 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนสะสม 4.02 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมฯ 6,112 แห่ง และมีการจ้างงานรวม 515,962 คน โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 16.84 %

2. อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ 11.37% 3. อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ 9.79 % 4. อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 8.32% และ5. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ 7.89% โดยนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงครองแชมป์ให้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งถึง 28% รองลงมา คือ นักลงทุนจากประเทศจีน 17% ไต้หวัน 9% ออสเตรเลีย 6% และฮ่องกง 6%

สำหรับภาพรวมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.ทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 61 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่งใน 17 จังหวัด เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 14 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 47 แห่ง

“จากการที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์นับเป็นการส่งสัญญานที่ดีที่จะทำให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ หลังจากที่นักลงทุนชะลอการตัดสินใจมาระยะหนึ่ง ซึ่งกนอ.เล็งเห็นถึงโอกาสนี้เพื่อพลิกฟื้นวิกฤตต่างๆ ด้วยการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย/เช่าที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. เพื่อจูงใจนักลงทุนให้หันมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยแต่ละโปรโมชั่นขึ้นอยู่กับพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะสามารถจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมเดิมซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”น.ส.สมจิณณ์ กล่าว