posttoday

เร่งเครื่องดึงลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยกระดับรายได้ชุมชน หนุนฮับอาเซียน

28 มิถุนายน 2563

“สุริย”รับลูกมติครม.ไฟเขียว 10 เขตเศรษฐกิจชายแดน นำร่องกระตุ้นลงทุน 3 นิคมฯ แจ้งเกิด สระแก้ว-สะเดา-ยางพารา จัดโปรฯลดราคาที่ดิน หวังดึงเม็ดเงินลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รมว. อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าผลักดันการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภายหลังมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …. โดยมุ่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพในแต่ละพื้นที่ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน

ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พร้อมตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น นักลงทุนต่างประเทศ/ในประเทศใช้ไทยเป็น Hub ของอาเซียน(Connectivity) ตลอดจนมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำและก่อให้เกิดการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth)ต่อไป

อย่างไรก็ตามร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้จะเป็นกลไกในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ในการบริหารจัดการ กำกับติดตาม และสนับสนุนการดำเนินงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 แห่ง และพื้นที่ที่มีศักยภาพเพิ่มเติม ได้แก่ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC - Creative LANNA) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC - Bioeconomy) และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก (Western - CentralEconomicCorridor: WCEC)เป็นต้น

เร่งเครื่องดึงลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยกระดับรายได้ชุมชน หนุนฮับอาเซียน

นอกจากนี้จะเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมรองรับนักลงทุนที่สนใจเข้าไปลงทุนเช่นนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว นิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา) จังหวัดสงขลา และนิคมอุตสาหกรรมยางพาราจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมยางพารา  เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการรองรับผลผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบซึ่งคาดว่าเมื่อมีการใช้พื้นที่เต็มประสิทธิภาพแล้วจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 7,000 อัตราและก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท

เร่งเครื่องดึงลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยกระดับรายได้ชุมชน หนุนฮับอาเซียน

ขณะเดียวกันการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ได้กำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการขาย/เช่าที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมยางพาราเช่น มาตรการส่งเสริมการขาย จะได้รับส่วนลดร้อยละ 5 ของอัตราราคาขายที่ดิน ยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกในปีแรก นับจากวันที่ทำสัญญาจะซื้อจะขาย/สัญญาซื้อขายที่ดิน และสามารถแบ่งชำระการซื้อที่ดินในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้ภายใน 6 เดือน โดยไม่มีดอกเบี้ย แต่ต้องยื่นขออนุญาตใช้ที่ดินเพื่อประกอบกิจการต่อ กนอ. ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2564 โอนที่ดินภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2564 และแจ้งเริ่มประกอบกิจการภายในระยะเวลา 2 ปี เป็นต้น