posttoday

ดีเดย์แบน 3 สาร 1 มิ.ย. เกษตรกรต้องส่งคืนร้านค้า ภายใน 29 ส.ค.

01 มิถุนายน 2563

“มนัญญา” ลงพื้นที่ชัยนาท ทำความเข้าใจแจงแบน 3 สาร กำชับข้าราชการต้องรับผิดชอบ หากเกษตรกรส่งคืนสารพิษ ไม่ทัน หลังมีสต๊อกเหลือ2.1 หมื่นตัน นัดหารือเอกชนอีกรอบ 9 มิ.ย. นี้

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์  รมช.เกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยภายหลังการประชุมและมอบนโยบายการแบนสารเคมีการเกษตร คลอร์ไพริฟอส พาราควอต เป็นวัตถุอันตรายประเภท4 (วอ.4)  ที่จ. ชัยนาท ว่า ขอให้สารวัตรเกษตร เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯทุกหน่วยงานลงพื้นที่สร้างความเข้าใจเกษตรกร สามารถคืนสารเคมีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ให้กับร้านค้าที่ซื้อมาภาย 90 วัน คือวันที่ 29 ส.ค. และให้ร้านค้า รวบรวมแจ้งปริมาณต่อเจ้าหน้าที่ภายในพื้นที่ภายใน 120 วัน หรือภายในวันที่ 28ก.ย.เพื่อส่งคืนไปยังผู้ผลิตและผู้นำเข้า ซึ่งต้องแจ้งปริมาณต่อกรมวิชาการเกษตร ภายใน 270 วัน หรือวันที่ 25 ก.พ.64

ทั้งนี้ไม่ต้องการให้มีข่าวการจับกุมเกษตรกร กรณีคืนไม่ทัน ถ้าเกิดเหตุขึ้น ข้าราชการทุกคนในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ต้องร่วมกันรับผิดชอบถือว่ากลั่นแกล้งให้เกษตรกรต้องเดือดร้อน เพราะเรื่องแบนสารเป็นนโยบายรัฐบาล ให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ซึ่งจะเป็นได้ประเทศไทยจะต้องสะอาด

ปัจจุบันปริมาณ 3 สาร มีสต็อกทั้งสิ้นประมาณ 2.1หมื่นตัน เป็นสารพาราควอต 9 พันตัน ไกลโฟเซส 1.1หมื่นตัน  คลอร์ไพริฟอส 2 พันตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนมีสต๊อกอยู่ที่ 2.6 หมื่นต้น  ส่วนที่มาเริ่มปฏิบัติการ 1 มิ.ย. ที่จ.ชัยนาท เพราะเป็นพื้นที่จังหวัดไม่ใหญ่ แต่พบว่ามีสารเคมีวอ.4 จำนวนมาก โดย มีพาราคควอต 4 หมื่นกว่าลิตร ไกลโฟเซส 6 หมื่นกว่าลิตร คลอร์ไพริฟอส 1 หมื่นกว่าลิตร

นอกจากนี้ยังมีร้านค้าทั้งหมด 218 แห่งที่ขาย 3 สาร   โดยพบ  2 ร้านค้า ขาย 3สารมากกว่า 80% เป็นเจ้าใหญ่ของตลาดชัยนาท ซึ่งตัวเลขสารเคมี ที่เหลือจำนวนมาก ทำให้มีคำถามว่าเพราะอะไร หรือเป็นเพราะเกษตรกร ลดการใช้แล้ว หรือเชื่อตามข่าวลือว่าจะมีการขยายเวลาแบน ซึ่งยืนยันว่าไม่มีแน่นอน เพราะกฏหมายคือกฏหมาย และก้าวต่อไปของดิฉัน คือสารไกลโฟเซส

น.ส.มนัญญา กล่าวว่า จ.ชัยนาท มีพื้นที่ปลูกข้าวมากถึง 9 แสนกว่าไร่ หรือ 75%ของพื้นที่แต่ทำไมมีการขายพาราควอต จำนวนมากทั้งๆ ห้ามใช้ในข้าว ผัก และผลไม้ เพราะฉะนั้นกรณีการอบรมเกษตรกรใช้สารเคมี ของกรมวิชาการเกษตร ต้องเปลี่ยนใหม่ ไม่ใช่มาอบรมเพื่อได้สิทธิ์ซื้อสารเคมี ต้องแยกอบรมเป็นรายพืชที่ใช้จริงเท่านั้นไม่ใช่อบรมไปทั่ว ทำไปเพื่ออะไรเอาเกษตรกรปลูกข้าวมา อบรมใช้พาราควอต มันเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่

“ต่อไปบริษัทที่จำหน่ายสารเคมี ต้องรับผิดชอบด้วย ไม่ใช้พอมีสารตกค้าง ก็โทษว่าเกษตรกรใช้ไม่เป็น ซึ่งจากนี้จะเดินสายในหลายจังหวัด  และเห็นว่าบริษัทที่ขายสารเคมีควรมีหน้าที่ลงมาดูแลเกษตรกรผู้ใช้สารด้วย โดยในวันที่ 9 มิ.ย.จะหารือร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมอาหาร ที่เรียกร้องให้ขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป อ้างว่ากระทบวัตถุดิบนำเข้ามาแปรรูปอาหารทั้งคนและสัตว์ ซึ่งต้องการความชัดเจน ว่า มาตรฐานการผลิตเป็นอย่างไรและกระทบอย่างไร ”น.ส.มนัญญา กล่าว