posttoday

เอสเอ็มอีแบงก์ อัดฉีด 4 หมื่นล้าน เติมทุน SMEsไทย หลังวิกฤตโควิด-19

01 มิถุนายน 2563

“สุริยะ”สั่งธพว.จัดสินเชื่อพลิกฟื้นธุรกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ตั้งเป้า 40,000 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอี 2.4 หมื่นกิจการ พยุงจ้างงาน 1.2 แสนราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 9 หมื่นล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เร่งช่วยเหลือฟื้นฟูธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มเติม เดินหน้าเติมทุนสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษ เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนไปหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง คาดอนุมัติสินเชื่อได้กว่า 40,000 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีได้ประมาณ 24,000 กิจการ

นอกจากนี้จะส่งผลดีไปยังระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้สู่ท้องถิ่น ช่วยรักษาการจ้างงานประมาณ 120,000 ราย สร้างมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจประมาณ 90,000 ล้านบาท

สำหรับสินเชื่อของธพว.ประกอบด้วย สินเชื่อวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสภาพคล่อง สำรองเป็นค่าใช้จ่ายได้แก่ สินเชื่อรายเล็ก  Extra Cash  สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคลธุรกิจการท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า)  บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก 3% ต่อปี และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปี 3 ปีแรก และสินเชื่อ soft loan ธปท. อัตราดอกเบี้ย 2%ต่อปี  อีกทั้งยังมีสินเชื่อวัตถุประสงค์เพื่อลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ได้แก่ สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง SME D Happy อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.375% ต่อปี และสินเชื่อ SMART SMEs  อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5% ต่อปี  แถมยังรับรีไฟแนนซ์ (Refinance)   

นอกจากนั้นยังมอบหมายให้ธพว.เติมทุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้แก่ลูกค้าในโครงการสินเชื่อประชารัฐ แบ่งเป็น "โครงการสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ" (สินเชื่อประชารัฐ)   และ “โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับ SMEsคนตัวเล็ก” (สินเชื่อ SMEs คนตัวเล็ก)  คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี     และร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินการสินเชื่อ “SMEs One”   คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 12 เดือน

ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ธพวได้ออกมาตรการเยียวยาเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ภายใต้ชื่อมาตรการ "ลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม"  โดย ล่าสุดมีเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่มาตรการแล้ว  9,458 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 14,924.63 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มได้รับผลกระทบทางตรง 4,892 ราย คิดเป็นมูลค่า 7,082 ล้านบาท

และกลุ่มได้รับผลกระทบทางอ้อม 4,566 ราย คิดเป็นมูลค่า 7,842.63 ล้านบาท  อีกทั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 15 พ.ค.2563 ธพว. ได้เติมทุนช่วยเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปแล้ว จำนวน 3,329 ราย วงเงินรวม 6,231.31 ล้านบาท