posttoday

ท็อปส์ ใช้จุดแข็งโลจิสติกส์ รับซื้อตรงสินค้าเกษตร-ชุมชน

21 พฤษภาคม 2563

เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล รับซื้อสินค้าตรงจากเกษตรกรและชุมชนฯ ดึงศักยภาพจากโลจิสติกส์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในวิกฤตโควิด-19 วางเป้าสิ้นปีมี เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ หมื่นครัวเรือน ใน 42 จังหวัด

นางสาวเมทินี พิศุทธิ์สินธพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ผู้บริหาร ท็อปส์ และ แฟมิลี่ มาร์ท เปิดเผยว่า เปิดตัวโครงการ “รับซื้อสินค้าตรงจากเกษตรกรและชุมชนบริหารการขนส่งผ่านเครือข่ายรถส่งสินค้า(Backhaul)” พร้อมนำระบบโลจิสติกส์ ช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศ ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า สร้างความยั่งยืนกับเกษตรกรและเศรษฐกิจของไทยก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19

สำหรับโครงการฯ เป็นการนำศักยภาพการบริหารจัดการผ่านเครือข่ายรถขนส่งสินค้าไปยังร้านท็อปส์ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่งปกติต้องตีรถเที่ยวเปล่ากลับไปยังศูนย์กระจายสินค้าในกรุงเทพฯทำให้เกิดแนวคิดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยลดต้นทุนการส่งสินค้าสามารถส่งผลผลิตต่อครั้งได้มากขึ้น ใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากการขนส่งให้คุ้มค่า โดยนำจุดแข็งด้านระบบโลจิสติกส์ของบริษัทฯมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

"พบว่าเกษตรกรประสบปัญหาต่าง ๆ เช่น ช่องทางการจำหน่ายสินค้าลดลง ความไม่สะดวกในการเดินทางเพื่อขนส่งสินค้าเนื่องจากติดช่วงเวลาเคอร์ฟิว ประสบปัญหาด้านการส่งออก ปัญหาด้านแรงงานโครงการดังกล่าวจึงเข้ามาเติมเต็มและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างถูกจังหวะและเวลา การขนส่งสินค้าโดยใช้รถ backhaul เป็นการใช้อุปกรณ์และองค์ความรู้ความชำนาญที่มีในการบริหารจัดการขนส่ง ทั้งระบบมีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพจากต้นทาง(เกษตรกร)ไปจนถึงปลายทาง(ผู้บริโภค)" นางสาวเมทินี กล่าว

โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะรวบรวมผลผลิตนำขึ้นรถขนส่งสินค้าท็อปส์ เพื่อนำกลับไปยังศูนย์กระจายสินค้าอาหารสดและรอกระจายไปจำหน่ายยังสาขาต่างๆ สำหรับปริมาณการขนส่งต่อรอบขึ้นอยู่กับชนิดสินค้า เช่น ผลไม้ ประมาณ 5-6 ตันต่อรอบ หรือผักประมาณ 2-3 ตันต่อรอบจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาพบว่าเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรหลายด้านได้แก่

1. ลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าเกษตรกรสามารถขนส่งสินค้าได้จำนวนมากในเวลาจำกัด 2. ลดต้นทุนด้านแรงงาน ไม่ต้องจ้างคนเพิ่มในการดูแลขนส่งสินค้า 3. ประหยัดเวลา เมื่อมีรถไปรับสินค้าถึงที่ทำให้เกษตรกรมีเวลาเพิ่มขึ้นไปดูแลผลผลิตให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานที่ดีขึ้น4. สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเพราะสามารถส่งผลผลิตไปจำหน่ายได้มากขึ้นต่อการขนส่งแต่ละรอบ 5.ลดความเสี่ยงจากโควิด-19 ไม่ต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อขนส่งสินค้าและอีกหนึ่งประโยชน์สูงสุดต่อสิ่งแวดล้อมคือ เกิดการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการขนส่ง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นไปตามโยบายมาตรการสร้างอาชีพ เสริมรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกษตรกรและชุมชนอย่างยั่งยืนแม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายแล้วก็ตามเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ยังได้วางแผนช่วยเหลือเกษตรกรในระยะยาว พัฒนาระบบทั้งด้าน supply chain และการตลาด ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยในปี 2020 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ10,000 ครัวเรือน ใน 42 จังหวัด