posttoday

คุยกับ “เจ้าสัวซีพี” ความมั่นคงทางอาหารโลก ยุคหลังโควิด

18 พฤษภาคม 2563

เจ้าสัวธนินท์ อาณาจักร ซีพี มองอุตสาหกรรมอาหารโลก หลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย ต้องเร่งบริหารกลไกตลาด เหตุสินค้าเกษตรบางตัว ซัพพลายล้น “อาหารมีแต่จะเกิน”

ในยุคหลังจากโควิด-19 พฤติกรรมมนุษย์จะเปลี่ยนไปและไม่กลับมาเหมือนเดิมการใส่ใจเรื่องอาหารสุขภาพและความปลอดภัยจะมีความสำคัญมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

ขณะที่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี อีกหนึ่งองค์กรธุรกิจด้านอาหาร ระดับโลก สัญชาติไทย ที่มีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร (world food security) โดย เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้มาตอบคำถามอย่างละเอียด สะท้อนภาพได้อย่างชัดเจน ต่อทิศทางอาหารโลก ในยุคหลังโควิด-19  จะเป็นอย่างไร ในจากนี้ไป

หลังโควิด-19 โลกของเราจะขาดแคลนอาหารหรือไม่?

ผม มองว่า แม้ว่าโควิด-19 จะทำให้หลายประเทศต้องหยุดชะงักหลายประเทศประสบปัญหาต้องปิดโรงงานทำให้อาหารขาดแคลนมากแต่ผมมองโลกในแง่ดีผมคิดว่าน่าจะเป็นปัญหาในระยะสั้นสิ่งที่สำคัญคือการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในกระบวนการผลิตอาหารเมื่อปัญหาคลี่คลายยุคต่อไปอาหารมีแต่จะเกิน

เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีและมีการผลิตอาหารที่ทันสมัยยิ่งประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์การขาดแคลนอาหารคงไม่เกิดแต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือสินค้าเกษตรบางตัวล้นตลาดทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

ดังนั้น การบริหารกลไกตลาดจึงมีควาสำคัญ และ หากแก้ปัญหาชลประทานได้ด้วย เกษตรกรจะมีตัวเลือกในการเพาะปลูก เลือกพืชราคาสูงเพิ่มมากขึ้น และจะมีรายได้ดีขึ้น แต่ต้องสมดุลกับความต้องการตลาดด้วย

วันนี้ซีพีขยายไปหลายประเทศ มองว่าอยู่ระดับไหนในเวทีโลก

ก่อนอื่นต้องบอกว่าซีพีเป็นบริษัทของคนไทยถึงแม้ว่าเราขยายไปหลายประเทศในโลกแต่ผมภูมิใจเสมอที่เราเป็นบริษัทไทยที่ออกไปแข่งขันในระดับโลกอย่างทัดเทียมทุกประเทศที่ซีพีไปทำธุรกิจเราไปพร้อมธงชาติไทยประดับขึ้นบนยอดเสาในทุกโรงงานทุกสำนักงานในทุกประเทศที่ซีพีไปทำธุรกิจ

ถามว่า เราเป็นบริษัทระดับโลก (International Company) แล้วหรือไม่ ผมอาจสรุปว่า วันนี้รายได้ของเครือซีพีกว่า60% มาจากต่างประเทศ ลงทุนกว่า22 ประเทศทั่วโลก และ ขายสินค้าให้กว่า 100 ประเทศทั่วโลก

ก็นับได้ว่า เราเป็นบริษัทที่แข่งขันในเวทีโลกมาหลายสิบปีแล้ว

โควิดกระทบซีพีในประเทศใดมากที่สุด?

ซีพีทำธุรกิจเกษตรและอาหารทำให้เราต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษหากบริหารไม่ดีแล้วปิดโรงงานก็จะกระทบหนักแต่จนถึงวันนี้ยังถือว่าเราเตรียมความพร้อมได้ดีทุกประเทศที่ซีพีไปทำธุรกิจเรายังทำธุรกิจได้ต่อเนื่องไม่ถูกปิดโรงงานเพราะเราเรียนรู้และมีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ

หลายครั้งที่คนบอกว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยครั้งใหญ่ สร้างผลกระทบรุนแรงกว่าต้มยำกุ้ง  แต่ผมว่าต้องมองโลกในแง่ดียามฟ้ามืดต้องคิดถึงเมื่อยามสว่าง

ผมมีนโยบายชัดว่า เราจะไม่ปลดคนงานจากปัญหาโควิด19 ผมเชื่อว่าเป็นแค่อัมพาตชั่วคราว แต่โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังอยู่ รัฐต้องประคองบริษัทรายเล็ก รายน้อยให้อยู่รอดเมื่อพ้นวิกฤตต้องลุกมาวิ่งได้ ดังนั้นยามที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประเทศไทยต้องคิดว่า จะต้องเตรียมความพร้อม อยู่รอดอย่างเดียวไม่พอ ต้องช่วยเขาปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคหลังโควิด(new normal) ซึ่งจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ถึงแม้ว่าธุรกิจอาหารจะได้รับผลกระทบไม่มาก แต่พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป ทำให้ซีพีในทุกประเทศต้องปรับตัว และต้องรวดเร็ว

ซีพีเริ่มลงทุนในประเทศจีนเมื่อใด และกรณีโรงงานซีพี อู่ฮั่น กระทบมากน้อยเพียงใด

ซีพี เป็นบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีน หลังจากจีนเริ่มเปิดประเทศในปี พ.ศ. 2521  เราเป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่เข้าไปลงทุนในจีน อีกทั้งเป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่ได้จดทะเบียนการค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ดังนั้นหากพูดถึงโควิด-19 ซีพีก็ได้เรียนรู้ บทเรียนและประสบการณ์จากกรณีอู่ฮั่น ในประเทศจีน ซึ่งได้ถ่ายทอดสู่ประเทศไทย ในการรับมือกับการระบาดของไวรัส COVID-19

หากพูดผลกระทบต่อประเทศจีน ต้องถือว่าไม่มาก และปรับตัวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการจัดส่งอาหารถึงบ้าน ที่มีการเชื่อมโยงชุมชนในการกระจายสินค้า และการดูแลด้านความปลอดภัยแบบครบวงจร ทำให้ไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร และ พนักงานทุกคน มีรถรับส่ง และมีที่พักภายในโรงงาน ทำให้มั่นใจได้ว่า จะผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่อง

เหตุผลซีพีผนึกรายใหญ่ “เบลลิซิโอฟู้ด” เจาะตลาดอเมริกา

เวลาซีพีไปลงทุนในประเทศอื่น ต้องถ่อมตน ให้คนในท้องถิ่นดูแล เพราะเขาจะเข้าใจประเทศนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง เช่นเดียวกับ บริษัทเบลลิซิโอที่มีคนเก่งและมีประสบการณ์ เราต้องให้โอกาสคนเก่งในประเทศที่ไปลงทุนบริหาร ส่วนเราดูแลด้านการเงินและยุทธศาสตร์หลัก ๆ หากย้อนไปช่วงปลายปี 2559 ซีพีซื้อกิจการของบริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ด อิ้งค์ (Bellisio) ต้องถือว่าคุ้มค่าเพราะเขาเป็นผู้นำด้านการผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกาและยังเข้ากับเทรนด์อาหารแช่แข็งทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

หลายคนอาจไม่รู้จัก แต่เบลลิซิโอเป็นผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอาหารแช่แข็งแบบ Single Serve ภายใต้แบรนด์ มิชิลิน่าส์ (Michelina’s) แอทคินส์ (Atkins) บอสตันมาร์เก็ต (Boston Market) ชิลีส์ (Chili’s) อีทติ้งเวล (EatingWell) และอีท (Eat!) รวมทั้งเป็นผู้ผลิตร่วมสินค้าภายใต้แบรนด์ของลูกค้า (Private Label) และผู้ประกอบการธุรกิจอาหารต่างๆ ซึ่งการประเดิมนำเข้าสินค้าแบรนด์บอสตัน มาร์เก็ต เข้ามาในภูมิภาคอาเซียนด้วย ต้องถือได้ว่า บริษัทคนไทย ก็ได้ชูธงไทยไกลถึงอเมริกาในวันนี้

ความสำคัญตลาดอเมริกา กับ ซีพี

ทุกทวีปมีความแตกต่างกัน ซีพีไปทำธุรกิจประเทศไหน สิ่งแรกที่ต้องคิดคือ จะทำประโยชน์ให้ประเทศนั้นได้อย่างไร และตามมาด้วยประชาชนของเขาจะได้ประโยชน์อย่างไร เราจึงต้องทำของดีราคาถูก ตลาดอเมริกามีศักยภาพมาก จำนวนประชากรมากถึง 325 ล้านคน คิดเป็น 5% ของประชากรโลก และมีกำลังซื้อสูง ประกอบกับยังมีมูลค่าธุรกิจอาหารมากกว่า 5.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตลาดอาหารแช่แข็งและอาหารกินเล่นมีอัตราเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4-5% ต่อปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีราว 19 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1 ใน 4 ของจีดีพีของโลก ดังนั้น ซีพีจึงได้ให้ความสำคัญกับตลาดอเมริกา นอกจากนี้อเมริกาเป็นเจ้าของเทคโนโลยี และ รีเสริซ ที่ซีพีต้องเรียนรู้ และนำมาใช้กับธุรกิจอีกมาก

ซีพีขยายฐานในยุโรปด้านใดบ้าง

ในยุโรปเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีหลายประเทศที่ซีพีให้ความสำคัญ อาทิ การเข้าลงทุนในประเทศโปแลนด์ ถือเป็นก้าวแรกของซีพีที่เข้าไปดำเนินธุรกิจไก่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ประเทศโปแลนด์เป็นประเทศที่เป็นผู้นำในการส่งออกสินค้าสัตว์ปีกเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป และเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านวัตถุดิบ มีต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ต่ำ แต่

หากพูดถึงในยุคนี้ ซีพีขยายตลาดในยุโรป ซื้อกิจการอาหารพร้อมรับประทาน "ท็อปส์ฟู้ดส์" ในเบลเยียม  นอกจากจะขยายฐานการผลิต-เสริมกระจายสินค้าในยุโรป Tops Foods ยังมีเทคโนโลยีถนอมอาหารที่ยอดเยี่ยม และเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน โดยมีกำลังการผลิตอาหารพร้อมรับประทานจำนวนประมาณ 100,000 ถาดต่อวัน เพิ่มจุดแข็งการเป็นครัวของโลก ด้วยการขยายฐานการผลิตอาหารพร้อมรับประทานไปยังทวีปยุโรป เพื่อการจำหน่ายให้แก่ประเทศต่าง ๆ ในแถบนั้นโดยโรงงานของ Tops Foods เป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตอาหารพร้อมรับประทานด้วยไมโครเวฟที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน

ซีพีกับตลาดอินเดีย มีความยากง่ายเพียงใด

กว่า 20 ปีที่ซีพีได้เข้าไปทำธุรกิจในอินเดีย ซีพีเริ่มทำธุรกิจที่เมืองเจนไน รัฐทมิฬนาฑู ในสมัยนั้น ตั้งโรงงานอาหารสัตว์ และทำฟาร์มไก่เนื้อระบบจ้างเลี้ยง จากนั้นจึงขยายไปยังกิจการสร้างฟาร์มไก่พันธุ์ และโรงฟักที่เมืองบังคาลอร์ ตามมาด้วยเมืองวิจายาวาดา รัฐอานธรประเทศ, เมืองปูเน่ รัฐมหาราษฏระ, เมืองเวลลอร์ รัฐทมิฬนาฑู, เมืองชิททู รัฐอานธรประเทศ,รัฐปัญจาบและรัฐฮารียาน่าสำหรับประเทศอินเดีย ในยุคนี้ ซีพีได้เข้ามาลงทุนในอินเดียหลายบริษัท เช่น บริษัท CP Aquaculture (India) จำกัด ผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งและปลา เพาะฟักลูกกุ้ง และ บริษัท Charoen Pokphand (India) จำกัดผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เพาะฟักลูกไก่

และ นอกจากนี้ยังมีบริษัท Charoen Pokphand Seeds (India)จำกัด ผลิตและจำหน่ายเมล็ดข้าวโพดพันธุ์ผสม และล่าสุด บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือกลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ประกาศลงทุนในธุรกิจค้าส่ง Cash & Carry ด้วยเงินลงทุน 10,000 ล้านรูปี ใน 5 ปีแรก ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้จะสร้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับชุมชนกว่า 5,000 ตำแหน่ง โดย LOTS Wholesale Solutions สองสาขาแรกจะเปิดดำเนินการในปี  2018  ณ กรุงเดลี จริงๆแล้วเป็นโอกาสให้สินค้าไทย สินค้าชุมชนไทย ที่อยากขายผ่านช่องทางLOTS เข้าสู่อินเดียก็เป็นโอกาส

ซีพี กับรัสเซีย เป็นอย่างไรบ้าง                  

รัสเซียพื้นที่กว้างขวาง ซีพีขยายฐานซื้อบริษัทไก่ครบวงจรในประเทศรัสเซีย ใช้เป็นฐานผลิตส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคใกล้เคียง กิจการไก่ครบวงจรของบริษัท Agro-Invest Brinky B.Vเป็นฐานที่สำคัญสำหรับการขยายธุรกิจในประเทศรัสเซีย ของ ซีพี เนื่องจากตลาดสัตว์ปีกในประเทศรัสเซียเป็นตลาดที่ไม่มีผู้ผลิตรายใหญ่ (fragmented market) ในขณะที่อัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับประเทศรัสเซียมีจำนวนประชากรสูงคือมากกว่า 140 ล้านคนนอกจากนั้นเมื่อรวมกับธุรกิจสุกรที่ซีพีได้ลงทุนอยู่แล้วในรัสเซียก็จะมีศักยภาพในการเติบโตในอนาคตจากการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่หลากหลายและมีโอกาสที่จะพัฒนาธุรกิจไปสู่การส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์จากประเทศรัสเซียไปยังประเทศอื่นๆอีกด้วย

ซีพีกับความร่วมมือในประเทศญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ๆ ที่ซีพีส่งออกไปขาย ทำให้เรื่องมาตรฐานของซีพีต้องเป็นที่ยอมรับ แต่หากพูดถึงยุคหลัง ซีพีได้ผนึกกำลัง อิโตชู ซึ่งเป็นบริษัทการค้าใหญ่เป็นอันดับ3 ของญี่ปุ่น มียอดขายประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนยอดขายของธุรกิจอาหารในสัดส่วน 26% หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 400,000 ล้านบาท โดยมีการทำธุรกิจหลากหลายในประเทศญี่ปุ่นและมีการลงทุนในต่างประเทศหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ธุรกิจของอิโตชูมีทั้งการค้าภายในประเทศและต่างประเทศ ธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ แฟมิลี่มาร์ท ที่มีสาขามากกว่า 10,000 สาขา ธุรกิจค้าส่งและศูนย์กระจายสินค้า การให้บริการด้านระบบขนส่งสินค้า (โลจิสติกส์) การทำธุรกิจผลไม้กระป๋องภายใต้ตราสินค้า Dole ธุรกิจด้านการเงิน ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจ Textile เป็นต้น

ทั้งยังเป็นบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ 1 ใน 5 ในตลาดหลักทรัพย์ ญี่ปุ่น นอกจากนั้นอิโตชูยังเป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารระดับต้นๆของประเทศญี่ปุ่นด้วย นอกจากนี้ ซีพี ยังผนึกกำลังกับ อิโตชู ไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มซิติก ประเทศจีน   นับเป็นการสร้างความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ระหว่างบริษัทชั้นนำของเอเชีย ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น และจีน โดยมีเป้าหมายที่จะผนึกกำลังเพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าการลงทุน ทั้งในเอเชีย และทั่วโลก ซึ่งจะเสริมศักยภาพของภาคธุรกิจในเอเชียให้โดดเด่นบนเวทีโลก โดยในส่วนของเครือเจริญโภคภัณฑ์นั้นการร่วมทุนนี้จะช่วยขยายโอกาสธุรกิจด้านเกษตรอุตสาหกรรม และอาหาร การค้าปลีก และการค้าระหว่างประเทศ และอื่นๆ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของทุกฝ่าย ซึ่งมั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นการค้า และส่งเสริฒการลงทุนในไทย และทั่วภูมิภาค

ซีพีในประเทศเวียดนาม

หากพูดถึงในอาเซียน เวียดนามเป็นประเทศที่น่าสนใจมาก ซีพี เข้าไปลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 2531 ด้วยการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนการค้า ณ นครโฮจิมินห์และในปี 2536 ได้ก่อตั้งบริษัท ซี.พี.เวียดนาม ไลฟ์สต๊อคจำกัด  ทำการก่อตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์บกภาคใต้ที่จังหวัดด่องนายเป็นแห่งแรก หลังจากนั้นในปี 2554 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซี.พี. เวียดนามคอร์ปอเรชั่นจากนั้นขยายไปสู่ธุรกิจเพาะเลี้ยงสุกรไก่เนื้อไก่ไข่ส่วนทางภาคใต้เน้นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยเฉพาะกุ้งขาวแวนนาไมและปลาแพนกาเซียสดอร์รี่ณบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

ปัจจุบัน ซีพีเวียดนาม มีธุรกิจตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานแปรรูป และจุดจำหน่าย ครอบคลุมทั้งในสัตว์บกและสัตว์น้ำ ซึ่งถ้าพิจารณาดี ๆ จะเห็นว่าซีพีเวียดนาม ยกโมเดลธุรกิจแบบครบวงจรจากประเทศไทยไปดำเนินการ การทำธุรกิจครบวงจรเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งกระบวนการผลิต อันเป็นปัจจัยสำคัญในการตอบสนองความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety) เพื่อผู้บริโภคทั่วโลก นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะยกระดับภาคเกษตรของประเทศเวียดนามให้ทัดเทียมสากล วันนี้เวียดนามกับอินเดียมีที่เลี้ยงกุ้งเยอะกว่าเมืองไทย อาจพูดได้ว่าซีพีเป็นศูนย์กลางเพาะพันธ์ที่ดีที่สุด

มองตลาดฟิลิปปินส์ ซีพีเข้าไปลงทุนหรือไม่

จริง ๆ ในอาเซียน นอกจากบรูไน ซีพีไปลงทุนในทุกประเทศ ย้อนไปเมื่อราว 10 กว่าปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ได้เล็งเห็นว่าประเทศฟิลิปปินส์จำเป็นต้องมีการพัฒนาภาคเกษตรในการผลิตเนื้อสัตว์ให้เพียงพอต่อปริมาณประชากร จึงได้เจรจาขอให้ซีพีเข้าไปช่วยพัฒนาประเทศ ซีพีจึงนำเทคโนโลยีทางการเกษตรและอาหาร ถ่ายทอดสู่เกษตรกรชาวฟิลิปปินส์ เพื่อเพิ่มผลผลิตอาหารโปรตีนคุณภาพสูง พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่น พัฒนากระบวนการผลิตอาหารของฟิลิปปินส์ให้เข้าสู่ผู้ผลิตอาหารปลอดภัยและมีความมั่นคงทางอาหารมาโดยตลอด ทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศฟิลิปปินส์ ผ่านโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย

ปัจจุบันธุรกิจของซีพีในฟิลิปปินส์ ประกอบด้วยการผลิตอาหารสัตว์บกและสัตว์น้ำ ฟาร์มไก่และฟาร์มสุกร โดยการผลิตดังกล่าวเป็นไปเพื่อรองรับความต้องการในประเทศเป็นหลักช่วยทดแทนการนำเข้าเนื้อสัตว์ และมุ่งเน้นการสร้างงานสร้างอาชีพตลอดจนสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยชาวฟิลิปปินส์ เพื่อให้ปัจจัยการผลิตอาหารมนุษย์มีคุณภาพดีตั้งแต่ต้นทางคืออาหารสัตว์ ตลอดจนพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ทั้งไก่และสุกร ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมาถึงการผลิตอาหารคุณภาพดีเพื่อเลี้ยงผู้บริโภคในประเทศอย่างเพียงพอในราคายุติธรรม

กิจการซีพี ในตลาดมาเลเซีย

ถือเป็นเพื่อนบ้านของประเทศไทย ซีพีเข้าไปดำเนินธุรกิจเกษตรในประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2522   ซีพีมาเลเซีย ได้นำโครงการเลี้ยงไก่ไข่ครบวงจร มาสร้างประโยชน์มหาศาลแก่ประเทศมาเลเซีย โดยเชิญภาครัฐบาล กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตร ของมาเลเซีย เข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตไก่ไข่ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม (Green Farm-Zero Waste) ศึกษาระบบBiogas ที่ทำให้ฟาร์มสามารถผลิดไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มได้ถึง 7.2 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี ลดต้นทุนพลังงานได้ปีละ 30 ล้านบาท

ขณะที่ผลผลิตไข่ไก่ที่วางจำหน่ายจะเป็นไข่ไก่ที่ผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ  มีระบบการลำเลียงไข่โดยสายพานมาโรงบรรจุที่เรียกว่าระบบ Inline ไม่ต้องใช้มือสัมผัสไข่จนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค เครื่องคัดขนาดไข่ของที่นี่ ถือว่าทันสมัยที่สุดในเอเชียไข่ทุกฟองจะผ่านการล้าง และฆ่าเชื้อโดยระบบ UV ถึง 3ครั้ง ก่อนเครื่องจะนำไข่ลงบรรจุภัณฑ์ ที่มีระบบฆ่าเชื้อระดับNano Technology ใหม่ล่าสุดในเอเชียไข่ไก่จากฟาร์มซีพีมาเลเซียจึงปลอดจากเชื้อ Salmonella 100%

ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในมาเลเซียนั้น มีความโดดเด่นอย่างมากในการเพาะเลี้ยงกุ้ง ตลอดจนแปรรูปกุ้งตามมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูง กระทั่งสามารถส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น สร้างรายได้แก่ประเทศมาเลเซียอีกทางหนึ่ง  มาเลเซียจึงเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ซีพีเข้าไปมีบทบาทในการต่อยอดการพัฒนาภาคเกษตรในภูมิภาคอาเซียน

ธนินท์ กล่าวว่า สุดท้ายนี้ ซีพีกำลังก้าวเข้าสู่บริษัทอายุ 100 ปี ที่ออกไปเติบโตในต่างประเทศ เทียบเคียงกับบริษัทชั้นนำของประเทศต่างๆ  และการที่ ซีพี เป็นบริษัทไทยที่ขยายไปทั่วโลก สร้างงาน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดึงเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทย ดังคำกล่าวที่ว่า “Proud to be Thai”