posttoday

ชงรัฐอุ้มเอกชนงดจ่ายประกันสังคม4เดือนเลื่อนจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ ช่วงวิกฤตโควิด19

26 มีนาคม 2563

กกร.พร้อมร่วมมือภาครัฐ สกัดโควิด-19 แจง 4 กลุ่มสินค้าที่จำเป็นห้ามชัทดาวน์ เสนอรัฐชะลอจ่ายประกันสังคม 4 เดือน เพิ่มเงินช่วยเหลือลูกจ้างตกงาน เลื่อนจ่ายค่าสาธารณูปโภค

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)  ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า    ตามที่รัฐบาลไทยได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พรก.ฉุกเฉิน) ณ วันที่ 26 มีนาคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)

ทั้งนี้ ได้หารือถึงแนวทางการดำเนินการและข้อเสนอแนะของภาคเอกชน ที่สนับสนุนมาตรการหยุดยั้งการแพร่กระจายของ COVID-19 ของภาครัฐ โดยภาคเอกชนขอให้ภาครัฐดูแลโรงงานโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นยิ่งยวด Critical Industry and Supply Chain (CISC) และการขนส่งสินค้า (Logistics) เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าที่จำเป็นขาดแคลน ดังนี้

1. อุตสาหกรรมอาหาร น้ำตาล น้ำมันปาล์ม เครื่องจักรกลการเกษตร การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ พลาสติก แก้วและกระจก เยื่อกระดาษ อลูมิเนียม  2. อุตสาหกรรมยา สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยาง3. อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งหุ่ม 4. อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซ พลังงานหมุนเวียน และ5. อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ

สำหรับธุรกิจที่มีความจำเป็น (Essential) ต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจอย่างรุนแรงสามารถดำเนินการได้ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม, เวชภัณฑ์การแพทย์, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ธนาคาร. ธุรกิจการเกษตร, พลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ต้องป้อนอุตสาหกรรมข้างต้น ช่องทางการจัดจำหน่าย การขนส่งและโลจิสติกส์

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลคือ 1. ให้ภาครัฐดูแลโรงงานโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นยิ่งยวด Critical Industry and Supply Chain (CISC) และการขนส่งสินค้า (Logistics) เพื่อป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมดังกล่าวหยุดชะงัก

2. ขอให้งดการจ่ายประกันสังคมสำหรับลูกจ้างและนายจ้าง เป็นระยะเวลา 4 เดือน 3 .ให้ภาครัฐเพิ่มเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ว่างงานหรือถูกเลิกจ้างจากเดิมร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 80   

4. ขอเลื่อนการจ่ายค่าน้ำและค่าไฟออกไป 4 เดือน  5.ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า กรณีใช้งบประมาณเพื่อป้องกัน COVID-19   6.ให้ระบบสาธารณูปโภคให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง  7. หน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจติดต่อกับภาคเอกชน สามารถให้บริการทางออนไลน์ได้ และ 8. ให้ผู้ขนส่งสินค้าสามารถส่งสินค้าได้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค