posttoday

MI มองสื่อดิจิทัล เติบโตแรงในสถานการณ์โดวิด-19 รับ Work From Home

19 มีนาคม 2563

ปัจจัยโควิด-19 หากเลวร้ายสุดลากยาวถึงไตรมาส 3 อาจได้เห็นเม็ดเงินโฆษณา ติดลบมากกว่า 30% แนะแบรนด์สินค้า วางแผนสื่อใหม่ออกตลาดต่างจังหวัด รับมาตรการพิเศษภาครัฐ "ล็อค ดาวน์" กรุงเทพฯ

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI กล่าวว่า จากสถานการณ์ "โควิด-19" ที่เกิดขึ้นนับแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค.-ก.พ. ที่ผ่านมา ส่งผลให้เจ้าของ หรือ แบรนด์สินค้า หลายรายหันมาทบทวนแผนการใช้เงินลงทุนผ่านสื่อแต่ละประเภท มากขึ้น เห็นได้ชัดในเดือน มี.ค. นี้ จากการยกเลิกการจัดกิจกรรม (อีเวนต์) ต่างๆ เช่น มอเตอร์โขว์ 2020 มหกรรมสงกรานต์ เทียบกับเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นเพียงช่วงเวลาตื่นตัวเท่านั้น

นอกจากนี้ จากนโยนบายภาครัฐที่ประกาศมาตรการพิเศษออกมาควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส โควิด -19 ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล นั้น คาดว่าอาจทำให้กลุ่มธุรกิจต่างๆ เร่งปรับแผนการตลาด จากผลกระทบที่ได้รับ โดยเฉพาะการวางแผนสื่อโฆษณาในพื้นที่ชุมชนคับคั่ง เช่น ศูนย์การค้า บริการขนส่งมวลชนสาธารณะ โรงภาพยนต์ สนามบิน เป็นต้น และอาจหันไปใช้สื่อในส่วนภูมิภาค หรือ ต่างจังหวัด มากขึ้น ชณะที่ 3 สื่อหลักใหญ่ คือ สื่อทีวี สื่อออนไลน์ และ สื่อนอกบ้าน จะยังมีความร้อนแรงอยู่

"พฤติกรรมผู้บริโภค จากอู่ฮั่น โมเดล คาดว่าจะคล้ายคลึงกับประเทศต่างๆทั่วโลกที่วางมาตรการรับมือควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะนี้ โดยผู้บริโภค เลือกใช้ชีวิตภายในที่อยู่อาศัยมากขึ้น และใช้สื่อออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดีย ที่คาดว่าจะมีอัตราเติบโตมากขึ้น ในกลุ่มคนไทยที่มีการใช้งานเฟซบุค มากกว่า 60-70%" นายภวัต กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังได้ร่วมวางแผนการใช้สื่อระหว่างลูกค้า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยประเมิน สถานการณ์ Covid-19 ของไทย ที่ยังไม่เข้าเฟส3 โดยสินค้า/แบรนด์ ที่อาจได้รับผลกระทบเชิงบวกจากสถานการณ์นี้ คือ หมวดที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย ยาสามัญประจำบ้าน, อาหารเสริม, หมวดวัตถุดิบอาหาร, อาหารสำเร็จรูป, น้ำดื่ม, เครื่องใช้ไฟฟ้า (อาทิ หม้อสุกี้, เตาไฟฟ้า), หมวดประกันสุขภาพ, หมวดระบบสื่อสาร, หมวดแอปพลิเคชันที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป (ส่งอาหาร, ส่งพัสดุ, บันเทิง, การเงินการธนาคาร)

สำหรับ สินค้าหรือแบรนด์ที่อาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากสถานการณ์นี้ คือ หมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว, ช้อปปิ้ง, พักผ่อน, ร้านดื่มกิน คาเฟ่, สินค้าหมวดฟุ่มเฟือย/ไม่จำเป็นขั้นพื้นฐาน (สมาร์ทโฟนรุ่นไฮเอน, รถยนต์, ชุดแต่งกายและเครื่องประดับ, น้ำหอม, แบรนด์เนม, สุราและไวน์ ฯลฯ)

ส่วน สินค้า หรือ แบรนด์ที่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบใดๆจากสถานการณ์นี้ คือ ขนมขบเคี้ยวและลูกอม, เครื่องดื่มนอลแอลกอฮอล์, ของใช้ส่วนตัว (อาทิ ครีมบำรุงผิว), สินค้าเกษตร, สินเชื่ออเนกประสงค์ ฯลฯ

นายภวัต กล่าวว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และคลี่คลายภายในเดือน พ.ค.นี้ คาดอาจทำให้เม็ดเงินโฆษณา ติดลบประมาณ 15-20% แต่หากลากยาวไปถึงกลางปี63 เม็ดเงินโฆษณาอาจติดลบ 25-30% และหากเลวร้ายสุด ไปจนถึงไตรมาส3-4 นี้อุตสาหกรรมสื่อโฆษณาในปี63 คาดจะติดลบมากกว่า 30%

โดยเม็ดเงินโฆษณาในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา ในช่วงที่ยังไม่เกิดสถานการณ์โควิด-19มีมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ติดลบ 2.56% ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อน อยู่ที่ 1.33 หมื่นล้านบาท จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องจากปีก่อน และ 2.การเติบโตถดถอย จากสื่อดั้งเดิม โดยสื่อทีวีเติบโตติดลบ6% สื่อหนังสือพิมพ์-นิตยสาร ติดลบ30%