posttoday

"พพ." ชูโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสังกรีน 9.5 MW ต้นแบบชีวมวลเชื้อเพลิงผสมหนุน ศก.ชุมชน

23 มกราคม 2563

ลงพื้นที่ภาคใต้ ศึกษาศักยภาพโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสังกรีน "TSG" นำระบบใช้เชื้อเพลิงผสม Multi-Fuel ผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 9.5 เมกะวัตต์ สร้างเศรษฐกิจชุมชนกว่า 100 ล้านบาทต่อปี หนุนเป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบ พัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลในอนาคต

ลงพื้นที่ภาคใต้ ศึกษาศักยภาพโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสังกรีน "TSG" นำระบบใช้เชื้อเพลิงผสม Multi-Fuel ผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 9.5 เมกะวัตต์ สร้างเศรษฐกิจชุมชนกว่า 100 ล้านบาทต่อปี หนุนเป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบ พัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลในอนาคต

"พพ." ชูโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสังกรีน 9.5 MW ต้นแบบชีวมวลเชื้อเพลิงผสมหนุน ศก.ชุมชน

น.ส.นวลจันทร์ เตชะเสริมสุขกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ พพ. ลงพื้นที่เยี่ยมชมและศึกษาเทคโนโลยี ด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ที่โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสังกรีน (TSG) ของ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)หรือ TPCH ที่ตำบลทุ่งสัง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช อัตรากำลังผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบที่ได้รับรางวัล Thailand Energy Awards 2019 ดีเด่น ประเภทประเภทโครงการที่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (On-Grid) และยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในระดับ ASEAN Energy Awards 2019

ทั้งนี้โรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าต้นแบบ ของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้วัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ในแบบใช้เชื้อเพลิงผสมได้หลายชนิด (Multi-Fuel) อาทิ ไม้ยางพารา (ตอไม้ รากไม้ ปลายไม้ และปีกไม้) และกะลา/ทะลายปาล์ม เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงขาดแคลน ใช้เงินลงทุน ประมาณ 800 ล้านบาท

โดย บริษัทได้ออกแบบโรงไฟฟ้าแห่งนี้ด้วยการติดตั้งระบบเครื่องดักจับไฟฟ้าสถิติ (ESP) เพื่อดักจับฝุ่นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในระบบการผลิต เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกับชุมชนโดยรอบ ทำให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการขายวัสดุทางการเกษตร เป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สอดรับกับนโยบายพลังงานที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานของประเทศ

ขณะที่ ศักยภาพของโรงไฟฟ้าดังกล่าว สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 9.2 เมกะวัตต์ หรือสามารถขายได้ 77 ล้านหน่วยต่อปี เป็นหน่วยผลิตที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 50,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนภายในชุมชนมากกว่าปีละ 100 ล้านบาท จากการรับซื้อวัสดุทางการเกษตร และการจ้างงานบุคลากรภายในพื้นที่ถึงร้อยละ 93

อีกทั้งยังเป็นโรงไฟฟ้าที่มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่กับภาคใต้ ในกรณีที่เกิดปัญหา ไฟฟ้าตก – ดับได้อีกทางหนึ่งด้วย

"จากศักยภาพของโรงไฟฟ้าจึงทำให้ได้รับการพิจารณารางวัลทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน นับเป็นเครื่องการันตี ถึงความสำเร็จในความมุ่งมั่นพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่มีมาตรฐานในการผลิตไฟฟ้าและการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ประสิทธิภาพจากการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิง" น.ส.นวลจันทร์ กล่าว

โดย พพ. พร้อมที่จะเดินหน้าการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น โดยเฉพาะการนำวัสดุทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูง

ในขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ยังไม่สามารถพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการได้ โดยปัจจุบันยังต้องพึ่งพาการจัดส่งไฟฟ้าจากส่วนกลางผ่านระบบสายส่ง ให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง