posttoday

ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตฯไร้แววฟื้น เหตุกำลังซื้อลด พิษภัยแล้งรุนแรง

22 มกราคม 2563

ผู้ประกอบการห่วงปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก กดดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธ.ค.ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.7 วอนภาครัฐปรับระเบียบจัดซื้อจัดจ้างเร่งออกมาตรการแก้ภัยแล้งด่วน

ผู้ประกอบการห่วงปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก กดดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธ.ค.ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.7 วอนภาครัฐปรับระเบียบจัดซื้อจัดจ้างเร่งออกมาตรการแก้ภัยแล้งด่วน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 91.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.3 ในเดือนพฤศจิกายน 2562 เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากความกังวลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงทำให้กระทบต่อผลผลิตและรายได้ของภาคเกษตร สะท้อนจากคำสั่งซื้อและยอดขายของสินค้าที่ลดลงทั้งจากสินค้าคงทนและไม่คงทน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการส่งออกก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ยังแข็งค่าต่อเนื่อง ตลอดจนความผันผวนของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอีกเช่นกัน

ทั้งนี้จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,207 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนธันวาคม 2562 พบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 70.1 ยังคงกังวลปัญหาสภาวะเศรษฐกิจโลก, ร้อยละ 61.2 กังวลอัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์) ในมุมมองผู้ส่งออก และร้อยละ 43.2 กังวลการเมืองภายในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 39.6 และ 20.6 ตามลำดับ

ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตฯไร้แววฟื้น เหตุกำลังซื้อลด พิษภัยแล้งรุนแรง

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 100.1 โดยลดลงจากระดับ 101.3 ในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน รวมทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนประกอบการโดยเฉพาะ SMEs นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งและความตึงเครียดในตะวันออกกลางก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและการส่งสินค้าไปยังตะวันออกกลาง ซึ่งผู้ประกอบการต้องวางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเสนอให้ภาครัฐปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และขอให้ภาครัฐหามาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน