posttoday

ครม.สัญจรไฟเขียว 3 โครงการพัฒนาชายแดนใต้ เนรมิตเขตเศรษฐกิจพิเศษจะนะ พื้นที่ 1.6หมื่น ไร่

21 มกราคม 2563

วางงบงทุน 1.8 หมื่นล้าน เขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส หวังเกิดแหล่งสร้างงานให้ประชาชน พร้อมจัดสรรพื้นที่ 1,855 ไร่ ให้ประชาชนทำกินเพิ่มโอกาสลดความรุนแรง มอบอำนาจนายอำเภอตั้งสภาสันติสุขทั้งทุกภาคส่วนรัฐ เอกชน ประชาชน ร่วมพูดคุยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก

วางงบงทุน 1.8 หมื่นล้าน เขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส หวังเกิดแหล่งสร้างงานให้ประชาชน พร้อมจัดสรรพื้นที่ 1,855 ไร่ ให้ประชาชนทำกินเพิ่มโอกาสลดความรุนแรง มอบอำนาจนายอำเภอตั้งสภาสันติสุขทั้งทุกภาคส่วนรัฐ เอกชน ประชาชน ร่วมพูดคุยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่(ครม.สัญจร) เมื่อวันที่21 ม.ค. 2563 ที่จ.นราธิวาส ที่ประชุมได้เห็นชอบ 3 มาตรการที่เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การจัดสรรที่ดินทำกิน 1,855 ไร่ และการตั้ง “สภาสันติสุขตำบล” เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดโครงการพัฒนา

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ นั้นเป็นโครงการต่อเนื่องตามนโยบายที่รัฐบาลต้องการขยายผลเมืองต้นแบบตามนโยบายสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคัง ยั่งยืน ที่ได้เห็นชอบรัฐบาลเห็นชอบ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองต้นแบบที่4 ในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

เนื่องจากในพื้นที่4 จังหวัดชายแดนใต้ยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับแรงงานในพื้นที่ที่มีอยู่มาก และเป็นพื้นที่ทีมีความพร้อมด้านกายภาพ เป็นพื้นที่ชายฝั่ง จึงมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการท่าเรือน้ำลึก เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นสามารถใช้ประโยชน์จากการนำเข้าและส่งออกสินค้าได้อย่างสะดวก

ครม.ครั้งนี้จึงอนุมัติในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งประกอบด้วยการดำเนินการด้านผังเมือง ซึ่งจะตั้งในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม ด้านโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ ที่จะดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา

ด้านโครงข่ายการขนส่งทางบกซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทจราจรเชื่อมทางหลวง ทางหลวงชนบท ถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และด้านพลังงาน ที่ต้องมีโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ/ชีวมวล แสงอาทิตย์ ลม

"การพัฒนาภายใต้โครงการนี้จะครอบคลุมพื้นที่ 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 1แสนอัตรา มีกิจกรรม 6 ประเภท ได้แก่ 1.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา จำนวน 4,253 ไร่ 2. พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก จำนวน 4,000 ไร่ 3. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า จำนวน 4,000 ไร่ จำนวน4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์ 4.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ จำนวน 2,000 ไร่ 5.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า จำนวน 2,000 ไร่ และ6. พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย จำนวน 500 ไร่" น.ส.รัชดา กล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ยังได้เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ซึ่งเป็นแผนบริหารจัดการที่ดินสำหรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ให้ศอ.บต.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดซื้อที่ดินเอกชน คือบริษัทสวนยางไทย จำนวน 1,683 ไร่ ในพื้นที่อ.ยี่งอ และอ.เมืองนราธิวาส ในกรอบวงเงิน 390 ล้านบาท การบริหารจัดการที่ดิน แบ่งเป็น 3 ส่วน

ประกอบด้วย 1.ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเช่า จำนวน 600 ไร่ ในพื้นที่ต.ละหาร อ.ยี่งอ เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ตามอำนาจหน้าที่ของการนิคมแห่งประเทศไทย 2.ให้เอกชนเช่า เนื้อที่รวม 1,003 ไร่ โดยกรมธนารักษ์เปิดประมูลเพื่อสรรหาผู้ลงทุนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และ 3.เป็นพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ของทางราชการในพื้นที่ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ พื้นที่รวม 79 ไร่ เช่น สร้างศูนย์อบรมพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมและการลงทุนและการพัฒนาและส่งเสริมนักธุรกิจรุ่นใหม่ยุค 4.0

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ครม.ได้ห็นชอบโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชาชนในจ.นราธิวาส รวม1,855 ไร่ ในจังหวัดนราธิวาส โดยการออกพระราชกฤษฎีกา(พรฎ.)กำหนดเขตที่ดินทำกิน 3 ฉบับ กำหนดพื้นที่ดังนี้ 1.ท้องที่ตำบลปูโยะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก เนื้อที่ประมาณ 542 ไร่ 2.ท้องที่ตำบลปะลุรู ตำบลโต๊ะเต็ง และตำบลริโก๋ อ.สุไหงปาดี 266 ไร่ และ3.ท้องที่ ตำบลบางปอ อ.เมืองนราธิวาส และตำบลดุซงญอ ตำบลช้างเผือก ตำบลจะแนะ อ.จะแนะ 1,047 ไร่ โดยที่ดินที่จัดสรรคครั้งนี้จะมีส่วนให้มีความมั่นคงทางอาชีพและมีแรงจูงในการพัฒนาอาชีพของประชาชน รวมทั้งสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาการถูกชักจูงให้เคลื่อนไหวก่อความไม่สงบเรียบร้อยได้ในระดับหนึ่ง

ประเด็นสุดท้าย ที่ครม. เห็นชอบเกี่ยวกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน เป็นโครงการด้านความมั่นคงและสังคม โดยเห็นชอบกรอบแนวทางการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงผ่านโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของศูนย์อำนวยการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) โดยให้มีสภาสันติสุขตำบลเป็นกลไกในการบริหารราชการระดับตำบล ขับเคลื่อนโครงการฯ


โดยให้นายอำเภอมีอำนาจแต่งตั้งสภาสันติสุขตำบล ประกอบด้วย 5 ภาคส่วน ได้แก่ 1.ภาคส่วนราชการที่เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในตำบล เช่น ปลัดอำเภอ ทหาร ตำรวจ พัฒนากร 2.ผู้ปกครองท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 3.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4.ผู้นำศาสนาหรือองค์กรศาสนาทุกศาสนาในพื้นที่ตำบล แล5. ภาคประชาชน เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน ตัวแทนกลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี

"สภาสันติสุขตำบลมีหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นในการจัดทำแผนพัฒนาโครงการตำบลฯ นำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับระดับจังหวัด และพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้” น.ส.รัชดา กล่าว

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้ง 3 โครงการที่ ครม.เห็นชอบในครั้งนี้ จะยังไม่ได้จัดสรรงบประมาณลงมาทันที เพราะต้องนำกรอบการทำงานไปหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่าส่วนใดอยู่ในความดูแลของหน่วยงานไหน เพื่อจัดทำรายละเอียดเสนอเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ของแต่ละหน่วยงานต่อไป