posttoday

“สรรพสามิต”ชงคลังตั้งกองทุนรีดเงินแบตเตอรี่ลูกละ1,000บาท

17 ธันวาคม 2562

“สรรพามิต” เตรียมชงคลังตั้งกองทุนรีดเงินแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า-ไฮบริด ลูกละ 1,000บาท

“สรรพามิต” เตรียมชงคลังตั้งกองทุนรีดเงินแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า-ไฮบริด ลูกละ 1,000บาท

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับผู้ประกอบการรถยนต์เกี่ยวกับแนวทางการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนส่งเสริมและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ว่า ในต้นปี 2563 จะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการดูแล ติดตามการบริหารจัดการแบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพให้ถูกวิธี ทั้งการกำจัดทิ้งให้สิ้นซาก หรือการรีไซเคิล เพื่อไม่ให้แบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ตกค้างภายในประเทศ

หลังจากกระทรวงการคลังเห็นชอบในหลักการแล้ว จะต้องทำประชาพิจารณ์ตามขั้นตอน และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ เสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนเสนอให้สภาพิจารณาต่อไป โดยยอมรับว่ายังมีกระบวนการอีกมาก และต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการพอสมควร ซึ่งประเมินว่ากองทุนดังกล่าวจะยังไม่แล้วเสร็จภายในปี 2563

“ปัจจุบันมีการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เป็นตัวขับเคลื่อนทั้งรถยนต์และเรือ ไปจนถึงของใช้อื่น ๆ โดยสิ่งที่เป็นห่วงคือแบตเตอรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นจำพวกนิเกิลไอออน และริเทียมไฮไดรด์ ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ จึงต้องมีระบบบริหารจัดการขึ้นมาดูแล ซึ่งพิจารณาร่วมกับภาคเอกชนแล้วเห็นว่าการจัดตั้งหน่วยติดตามในส่วนนี้ในรูปแบบกองทุนจะคล่องตัวมากที่สุด โดยจะมีคณะกรรมการกองทุน ที่มีตัวแทนภาคเอกชนและนักวิชาการเข้ามาร่วมด้วย และมีหน้าที่หลักในการติดตามการบริหารจัดการแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าแบตเตอรี่ลูกนั้นจะถูกนำไปกำจัดหรือรีไซเคิลอย่างถูกวิธี” นายพชร กล่าว

สำหรับกลไกของกองทุน คือ จะมีการเรียกเก็บเงินจากแบตเตอรี่ไฟฟ้า ไม่เกิน 1,000 บาทต่อยูนิต เสมือนเป็นค่ามัดจำ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้บริโภค เพื่อหมุนเวียนในกองทุนในการสร้างระบบในการใช้กำกับติดตาม และกรณีที่แบตเตอรี่ครบอายุการใช้งาน เช่น 5-7 ปี ผู้บริโภคต้องนำแบตเตอรี่มาคืนให้กับค่ายรถยนต์ เพื่อเอาเข้าสู่ระบบกำจัดอย่างถูกต้อง และค่ายรถยนต์จะคืนเงินกลับไปให้ผู้บริโภค แต่ถ้าไม่นำแบตเตอรี่มาคืน ผู้บริโภคก็จะไม่ได้รับเงินดังกล่าวคืน

เบื้องต้นประเมินว่าการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนดังกล่าว ในช่วงแรกจะมีเงินเข้ามาประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งกรมฯ ไม่ได้ต้องการเงินจำนวนเยอะอยู่แล้ว แค่อยากให้มีกลไกการจัดการแบตเตอรี่ที่ชัดเจนและถูกต้องเท่านั้น