posttoday

เคาะเปิดประมูลรถไฟฟ้าภูเก็ต กลางปี 63 รัฐอุ้มค่าก่อสร้าง 2.7 หมื่นล้านบาท

02 ธันวาคม 2562

รฟม. คาดผู้โดยสารวันละ 70,000 คน สัมปทานเอกชน 28 ปี ด้านรถไฟฟ้าสายสีส้มเลื่อนประมูลไปอีก 5 เดือน

รฟม. คาดผู้โดยสารวันละ 70,000 คน สัมปทานเอกชน 28 ปี ด้านรถไฟฟ้าสายสีส้มเลื่อนประมูลไปอีก 5 เดือน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ภูเก็ต ช่วงท่านุ่น-ท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลองวงเงินราว 3.4 หมื่นล้านบาท ระยะทาง 41.7 กม. นั้น ขณะนี้ปรับแบบการก่อสร้างเรียบร้อยแล้วเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ก่อนเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อขอความเห็นชอบและส่งต่อไปยังคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ดพีพีพี) คาดว่า จะเปิดประมูลได้ในช่วงกลางปี 2563 ควบคู่ไปกับการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในส่วนที่ปรับแบบ

อย่างไรก็ตามปัญหาพื้นที่ก่อสร้างนั้นเคลียร์กับกรมทางหลวงเรียบร้อยแล้วจะมีการเพิ่มอุโมงค์หลายแห่งและรางรถไฟยกระดับบริเวณทางเข้าสนามบิน

ส่วนรูปแบบการเปิดประมูลนั้น ใช้การร่วมทุนรัฐ-เอกชนแบบ PPP Net Cost เอกชนเป็นผู้ลงทุนและรับความเสี่ยงทั้งหมด โดยแบ่งรายได้ให้รัฐภายใต้สัญญาสัมปทาน 28 ปี แบ่งเป็น ก่อสร้าง 3 ปี และ บริหารอีก 25 ปี ซึ่งรัฐจะช่วยเอกชนอุดหนุนค่าก่อสร้างราว 2.7 หมื่นล้านบาท คาดการณ์ผู้โดยสารอยู่ที่ 70,000 คน/วัน

ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารตามที่ศึกษามา คิดค่าโดยสารตามระยะทางเริ่มต้น 18 บาท จากนั้นกิโลเมตรละ 2.5 บาท สูงสุด 100-137 บาทต่อเที่ยว มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 12.9%

ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์ วงเงินราว 2 แสนล้านบาทนั้นต้องเลื่อนประมูลโครงการออกไปอีก 5 เดือน เพื่อทบทวนรูปแบบการลงทุนและแบ่งสัญญาการประมูลโครงการ

นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่าด้านความคืบหน้าโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว - พหลโยธิน 24 วงเงินลงทุนรวม 7 พันล้านบาท นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการ ซึ่งส่วนต่อขยายสายสีชมพูได้เข้าสู่การประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

"กำลังเจรจาตัวเลขรายได้ที่เอกชนต้องจ่ายให้รัฐเพิ่มหากมีส่วนต่อขยายใหม่ ขณะที่ส่วนต่อขยายสายสีเหลืองอยู่ระหว่างขอความเห็นชอบ EIA เช่นเดียวกับเรื่องข้อพิพาทเอกชนเรื่องการแย่งรายได้ทับซ้อนเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินนั้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้ อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง" นายภคพงศ์ กล่าว