posttoday

คลาริเวท อนาลิติคส์ หนุนไทย สร้างนวัตกรรม Thailand 4.0

08 พฤศจิกายน 2562

คลาริเวท อนาลิติคส์ พร้อมสนับสนุนไทยสร้างนวัตกรรมเพื่อก้าวสู่ยุค Thailand 4.0 เดินหน้าผสานภาครัฐและเอกชนให้ร่วมกันทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ประเทศ

คลาริเวท อนาลิติคส์ พร้อมสนับสนุนไทยสร้างนวัตกรรมเพื่อก้าวสู่ยุค Thailand 4.0 เดินหน้าผสานภาครัฐและเอกชนให้ร่วมกันทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ประเทศ

คลาริเวท อนาลิติคส์ บริษัทที่พัฒนาระบบฐานข้อมูลและโซลูชั่นต่างๆ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยทั้งระบบ ตั้งแต่การสืบค้น ไปจนถึงการทำให้งานวิจัยได้รับการต่อยอดไปถึงภาคอุตสาหกรรม และทำให้นวัตกรรมที่ได้จากงานวิจัยได้รับการคุ้มครองผ่านการจดสิทธิบัตรในรูปของทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเจ้าภาพจัดงาน Innovation Forum 2019 ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก สกสว. สวทช. ฯลฯ มาร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย ภาครัฐ และองค์กรเอกชน เพื่อเร่งการสร้างนวัตกรรมที่มีผลกระทบต่อสังคมและนำพาประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Thailand 4.0 ได้อย่างยั่งยืน วันนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของทั้งสามฝ่ายซึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

คลาริเวท อนาลิติคส์ หนุนไทย สร้างนวัตกรรม Thailand 4.0 มร เจอโรน พรินซัน



มร เจอโรน พรินซัน (Mr. Jeroen Prinsen) รองประธานและผู้อำนวยการภูมิภาคออสเตรเลีย เอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คลาริเวท อนาลิติคส์ กล่าวว่า “จุดประสงค์ของการจัดงานในวันนี้ก็เหมือนกับพันธกิจของเราที่ต้องการสร้างแพลตฟอร์มให้มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของการสร้างงานวิจัย ภาครัฐที่คอยสนับสนุนทั้งในเรื่องของนโยบายและงบประมาณ และองค์กรเอกชนที่ต้องการพัฒนาสินค้าหรือบริการ ให้เข้ามาประสานความร่วมมือกัน เพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการในภาคธุรกิจและแก้ไขปัญหาที่ท้าทายของประเทศ และไม่ควรจะหยุดเพียงแค่นั้น แต่ยังจะต้องพัฒนาเพื่อต่อยอดไปสู่สินค้า และมองถึงการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย ซึ่ง คลาริเวท มีโซลูชั่นที่คอยสนับสนุนในทุกขั้นตอนของวงจรการทำวิจัยและสร้างนวัตกรรม (Research & Innovation Lifecyle)”

จากฐานข้อมูล Web of Science ของคลาริเวท ที่ประกอบด้วย ดัชนีอ้างอิงวารสารงานวิจัยกว่า 34,000 วารสารวิชาการข้อมูลแหล่งทุนวิจัยกว่า 12 ล้านรายการ สิทธิบัตร 80 ล้านฉบับ บทความนำเสนอในงานประชุมวิชาการกว่า 200,000 บทความ ฯลฯ ทำให้ Web of Science คือฐานข้อมูลที่รวบรวมผลงานและการอ้างอิงงานวิจัยจากทั่วโลกที่มากที่สุดและเชื่อถือได้ สามารถสืบค้นย้อนหลังได้ถึงปี 1900 ซึ่งมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งในประเทศใช้ระบบฐานข้อมูลนี้เป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลที่ใช้ในการทำวิจัย สำหรับข้อมูลของประเทศไทยที่ได้จากระบบ Web of Science นั้นบ่งบอกว่าเรามีผลงานวิจัยจำนวนมากทางด้านวิศวกรรม ซึ่งได้รับการอ้างอิงพอสมควร แต่การส่งผลกระทบกลับมีไม่มาก หรือการถูกอ้างอิงในระดับท็อป 10% หรือ 1% กลับแทบไม่ปรากฏเลย รวมถึงการต่อยอดไปถึงการจดสิทธิบัตรก็มีจำนวนที่น้อยมาก และที่น่าแปลกใจยิ่งกว่านั้นคือหมวดหมู่ของงานวิจัยที่ผลิตมากลับไม่ได้สัมพันธ์กับหมวดหมู่ที่ภาคธุรกิจต้องการ ซึ่งพอสรุปได้ว่าประเทศไทยทำงานวิจัยที่มีแต่เชิงปริมาณ แต่ยังขาดคุณภาพและขาดความร่วมมือกับภาคธุรกิจ เนื่องจากงานวิจัยที่ทำไม่ได้ตรงกับหัวข้อที่ภาคธุรกิจต้องการ ด้วยข้อสรุปเช่นนี้ทำให้เราต้องอาศัยข้อมูลเชิงลึกเพื่อจัดการกับช่องว่างที่เกิดจากการขาดการประสานงานร่วมกันของภาคธุรกิจและภาควิชาการ

คลาริเวท อนาลิติคส์ หนุนไทย สร้างนวัตกรรม Thailand 4.0 ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาศ

ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาศ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช และซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมบรรยายได้เปิดเผยว่า “เราจำเป็นต้องมีนวัตกรรมเป็นของตนเอง หากเราต้องการจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่นคงและยั่งยืน ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล รวมถึงเราต้องปฏิรูประบบการวิจัยทั้งระบบ คำถามคือถ้าภาครัฐมีแผนงานในการปฏิรูปตรงนี้ แล้วภาคเอกชนจะปรับเปลี่ยนได้ไหม? เราพบว่าเอกชนรายใหญ่ไม่เป็นปัญหา แต่พอมาเป็นธุรกิจระดับกลางและเล็ก เราจำเป็นต้องเข้าไปช่วยดูแลด้วยการสร้างแพลตฟอร์มในรูปแบบต่างๆ ที่จะไปสนับสนุนให้ทางเอกชนสามารถทำงานวิจัยและพัฒนาเองได้สะดวกมากขึ้น โดยประสานความร่วมมือของหลายภาคส่วน เช่นจัดหาผู้เชี่ยวชาญทำวิจัย จัดหาเครื่องมือ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ทดสอบ โรงงานต้นแบบในการผลิต การทำงานร่วมกับอ.ย. และความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งก็ตรงกับจุดประสงค์ของงานที่จัดในวันนี้คือ Collaboration หากเราดูข้อมูลของ Clarivate Analytics ใน sector เกษตรก็จะพบว่า ฝั่งงานวิจัยและพัฒนาค่อนข้างดี ทั้งงานวิจัย การเขียนบทความ ฯลฯ แต่พอมาเป็นในเรื่องของ patent เราผลิตออกมาได้น้อย แสดงว่าเรามีช่องโหว่ตรงความเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัย ดังนั้น FoodInnopolis คือหนึ่งในสะพานที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐกับเอกชนให้มาทำงานร่วมกัน”

“เราคิดว่า Clarivate มีประโยชน์อย่างมากคือเขามีข้อมูลเชิงลึก อย่าลืมว่ายุคนี้เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร เราต้องรู้ว่าใคร? ทำอะไร? อยู่ตรงไหน? ยกตัวอย่าง ถ้าเรากำลังทำงานวิจัยชิ้นหนึ่ง อันดับแรกที่เราควรจะรู้คือทำมาแล้วมีศักยภาพจะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ไหม? ติดสิทธิบัตรของคนอื่นหรือเปล่า? ควรจะลงทุนในโจทย์วิจัยนี้ไหม? เป็นต้น ซึ่งถ้าเราไม่รู้ไม่เห็น data พวกนี้ก็จะทำให้เราไปไม่ถูกทาง อันดับที่สองเมื่อทำวิจัยเสร็จแล้ว ใครควรจะเป็นลูกค้าของเรา? หมายถึงมีบริษัทไหนที่สนใจเรื่องนี้อยู่? ซึ่งข้อมูลที่เราได้จาก Web of Science และ Derwent จะทำให้เราเห็นภาพรวมทั้งหมดได้อย่างชัดเจน”

ดร.อัครวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ถ้ามองในภาพของ Collaboration สกสว คือหน่วยงานที่ออกนโยบายและ สวทช คือหนึ่งในหน่วยงานที่จะอิมพลีเม้นท์ต่อ เราจึงมองกลับไปที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ว่าต้องให้เขาใช้ข้อมูลพวกนี้ให้มากขึ้น เช่น เมื่อเราสืบค้นจากฐานข้อมูลอ้างอิงงานวิจัยทั้งทางฝั่งของผลงานตีพิมพ์ และข้อมูลสิทธิบัตร 80 ล้านฉบับทั่วโลก สิ่งเหล่านี้จะบอกได้ชัดเจนเลยว่าใคร? ทำอะไร? อยู่ตรงไหน?”

คลาริเวท อนาลิติคส์ หนุนไทย สร้างนวัตกรรม Thailand 4.0 รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์

 

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและเครือข่าว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. กล่าวเสริมว่า “จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันทำให้เรารู้ว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กไม่มีหน่วยงานวิจัยเป็นของตัวเอง เราจึงต้องดึงอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วย แต่อาจารย์ที่จะมาทำงานร่วมกับเอกชนได้ต้องไม่ใช่อาจารย์จบใหม่แล้วทำได้เลย เราจึงต้องสร้าง career path ด้วยการให้ทุนนักวิจัยเพื่อให้เขามีความเขียวชาญมากขึ้น ให้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านๆ มา ตอนเป็น สกว เราจัดงานทุกปีเพื่อมอบทุนวิจัยให้นักวิจัยต่างๆ การที่เราจะเลือกว่าจะให้ใครได้รับทุนวิจัยต่อ เราก็นำข้อมูลของ Clarivate มาช่วยในการวิเคราะห์ และเรายังมอบรางวัลให้แก่นักวิจัยดีเด่น ซึ่งเราไม่ได้ดูเฉพาะที่ผลงานอย่างเดียว แต่เราดูเรื่องของผลกระทบ (impact) ที่มีต่อบริบทของสังคม ผลการปฏิบัติงานของเขาจะต้องแสดงให้เห็นว่าเขาต้องเก่งในด้านนั้นจริงๆ และถึงแม้ว่าจะเป็นงานวิจัยในขั้นพื้นฐาน (basic research) แต่ถ้าเขาสามารถตอบโจทย์ได้ก็ต้องถือว่ายอดเยี่ยม คือเราสร้างนักวิจัยจากฐานข้อมูล Clarivate และส่งไม้ต่อให้ทำงานร่วมกับภาคเอกชน”

“แต่บทบาทของสกสว. จะไม่ลงงบประมาณไปที่นักวิจัย แต่เราจัดสรรงบให้หน่วยงานที่เป็น funding agency ที่ตรงกับนโยบาย หาคนเก่งมาทำงาน เรามีหน่วยจัดสรรทุนวิจัย 7 หน่วย โดยกำหนดว่าหน่วยไหนต้องดูแลเรื่องใด กำหนดเป้าหมาย และต้องสร้าง consortium ที่ประกอบด้วย มหาวิทยาลัย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มาร่วมกันวางแผนการทำงาน”

“ที่ผ่านมากองทุนวิจัยทำอย่างกระจัดกระจาย กลายเป็นเบี้ยหัวแตก สกสว. จึงเปลี่ยนแนวทางใหม่ที่เน้นการสร้าง platform ขึ้นมาเพื่อจัดหมวดหมู่งานวิจัย และดูแลเน้นไปในเรื่องแก้ปัญหาท้าทายของสังคม เช่น ค่าฝุ่น PM 2.5 เรื่องขยะพลาสติค นอกจากนี้หน้าที่อีกอย่างของเราคือการเพิ่มขีดความสามารถในเชิงการแข่งขันของประเทศ ซึ่งต้องอาศัยการร่วมมือกัน (collaboration) ของภาครัฐและเอกชน เช่น เรื่อง ฐานชีวภาพ เศรษกิจหมุนเวียน เศรษกิจสีเขียว และที่น่าสนใจคือ งานวิจัยต้องช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดังนั้นในเมื่องบเราไม่เยอะ เราจำเป็นต้องใช้เงินอย่างคุ้มค่าและมีความชัดเจนแม่นยำในเรื่องที่จะลงทุนทำ ดังนั้นทุกขั้นตอนของการวางแผนต้องมีข้อมูลที่แน่นและเชื่อถือได้”

“เราอยากตั้งเป้าว่าภายในปี 2565 งบประมาณทางด้านการวิจัยและพัฒนาจะอยู่ที่ 1.5% ของจีดีพีประเทศ และถึง 2% ในปี 2570 เราคาดหวังจะเห็นความร่วมมือกันจากทุกๆ ภาคส่วน และอีกเป้าหมายที่สำคัญคือทำให้วัฏจักรของการวิจัยและพัฒนาครบลูบ Research – Patent – License ซึ่งจะทำให้เราก้าวเดินต่อไปในทิศทางเดียวกันและใช้ประโยชน์จากงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้ดีที่สุด” รศ.ดร.พงศ์พันธ์ กล่าว